ชาอู่หลง มี OTTP ออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ลดไขมัน
ในชีวิตประจำวัน เราดื่มเครื่องดื่มที่มีชาเป็นส่วนประกอบมากมาย แต่เคยรู้ไหมว่าชามีทั้งหมดกี่ประเภท แล้วแต่ละประเภทมีคุณสมบัติอย่างไร เพราะชาแต่ละประเภทจะให้สารออกฤทธ์ที่แตกต่างกัน ซึ่งในที่นี้เราจะไปทำความรู้จักกับ ชาอู่หลง สารพัดประโยชน์มี OTTP ออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ลดไขมัน ก่อนอื่นเราไปทำความรู้จักกับประเภทของชา
ชาแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลักๆได้แก่
ชาเขียว เป็นชาที่ไม่ผ่านกระบวนการหมัก
ชาอู่หลง เป็นชาที่ผ่านกระบวนการหมักเพียงบางส่วน
ชาดำ เป็นชาที่ผ่านกระบวนการหมักอย่างสมบูรณ์
สาร OTTP ในชาอู่หลง สารพัดประโยชน์ดังนี้
ชาอู่หลง เป็นชาที่มีการบ่มแบบกึ่งหมักทำให้ได้สารออกฤทธิ์ที่มีชื่อว่า OTPP: Oolong Tea Polymerized-Polyphenols ซึ่งมีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ ลดการดูดซึมไขมัน โดยการยับยั้งเอนไซม์ไลเปส ช่วยกระตุ้นระบบการเผาผลาญ เพิ่มการเผาผลาญไขมันในร่างกาย ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรัง เช่น โรคอ้วน โรคหัวใจและโรคหลอดเลือด
ข้อแนะนำเกี่ยวกับการชงชาอู่หลง โดยอุณหภูมิของน้ำที่ใช้สำหรับการชงชาอู่หลงที่ดีคือ การชงชาด้วยน้ำร้อนจัดที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส หรือน้ำเดือดจัด เพื่อให้ใบชาคลายรสชาติที่ดีออกมา ตามขั้นตอนดังนี้ อุ่นกาชงชาด้วยน้ำร้อน ตักใบชาใส่ในภาชนะ (1 ช้อน หรือ 3 กรัม : น้ำ 150 มิลลิลิตร ) เทน้ำร้อนลงไปบนใบชา แช่ใบชาประมาณ 1-3 นาที เทน้ำชาออกจากการชง พร้อมเสิร์ฟ
การเลือกชนิดสายพันธุ์ชาที่จะนำมาผลิตชาอู่หลง
สาร OPPT ชาอู่หลงจะดีได้นั้น ส่วนหนึ่งต้องได้มาจากการคัดเลือกสายพันธุ์ที่ดี โดยสายพันธุ์ที่ใช้ในการทำชาอู่หลงนั้น จะต้องเป็นสายพันธุ์ชาจีน ชื่อวิทยาศาสตร์ Camellia sinensisvar. sinensis ชื่อวงศ์: Theaceae ชื่อสามัญ: Chinese tea มีถิ่นกำเนิน: ที่ประเทศ ไตหวันและจีน ดังนั้นจึงทำให้ไต้หวัน เป็นประเทศที่ขึ้นชื่อว่าผลิตชาอู่หลงมากที่สุดในโลก นอกจากนี้แล้วไตหวันยังนำเข้าชาจากเวียดนามเพื่อนำมาใช้ในการผลิตชาอู่หลง
การกระจายพันธุ์เข้ามายังในประเทศไทย โดยมีการปลูกกันมากในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของไทย เช่น จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ชึ่งชาจีนนิยมปลูกในพื้นที่สูง 800-1200 เมตร ของระดับน้ำทะเล ชาจีนเป็นชาที่ทนทานต่ออุณหภูมิต่ำและสภาพแวดล้อมที่แปรปรวนได้ดี ความสูงของต้นชา 1-6 เมตร โดยประมาณ, รูปร่างทรงพุ่ม: เป็นพุ่มเตี้ย, การขยายพันธุ์ : ขยายพนัธุ์ โดยวิธีปักชำ ซึ่งสายพันธ์ชาจีนที่นิยมปลูกกันในประเทศไทย อาทิเช่น อู่หลงก้านอ่อนเบอร์ 17 อู่หลงเบอร์12
การผลิตชาอู่หลง เป็นชาที่ผ่านกระบวนการหมักเพียงบางส่วนหรือกึ่งหมัก
กระบวนการผลิตชาอู่หลงมีทั้งหมด 7 ขั้นตอนหลักๆดังนี้
ขั้นตอนแรกคือ การเก็บใบชา จะต้องเลือกเก็บเฉพาะยอดอ่อนของชาที่ตูมและใบที่ต่ำ จากยอดตูมลงมา 2 ใบ (เก็บ 1 ยอด 2 ใบ) เนื่องจากสาร Polyphenols ซึ่งเป็นสารสำคัญในชา จะมีอยู่มากเฉพาะในยอดชาเท่านั้น
ขั้นตอนที่ 2 คือ การผึ่งใบชาในร่ม เพื่อให้น้ำที่มีอยู่ในชาถูกปล่อยออกอย่างช้าๆ เนื่องจากโครงสร้างใบชาจะมีน้ำเป็นจำนวนมากถึง 75-80 เปอร์เซ็นต์ การผึ่งชา เป็นขั้นตอนที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ และเกิดปฏิกิริยาเคมีของสารต่าง ๆ ในใบชา การผึ่งชาจะทำให้น้ำในใบชาระเหยไป ทำให้ใบชาเหี่ยวและจะมีการซึมผ่านของสารต่าง ๆ ภายในและ ภายนอกเซลล์การผึ่งชา เอนไซม์ polyphenol oxidase จะเร่ง ปฏิกิริยา oxidation และ polymerization ทำให้สาร polyphenol เกิดปฏิกิริยาเคมีได้เป็นองค์ประกอบใหม่ ที่ทำ ให้ชามีสี กลิ่น และรสชาตที่แตกต่างกันออกไป
ขั้นตอนที่ 3 คือ การหมัก ขั้นตอนนี้จะทำให้เกิดปฏิกริยาทางเคมีของใบชา ทำให้ Polyphenols ที่มีชื่อว่า Galloyl catechins แปลงสภาพเป็น (OTPP) Oolong Tea Polymerized-Polyphenols
ขั้นตอนที่ 4 คือ การคั่วชา ซึ่งมีปัจจัยที่ต้องควบคุมอันได้แก่ 1. อุณหภูมิในกะทะ 2. คุณภาพใบชาในกะทะ 3. เวลาในการคั่ว
ขั้นตอนที่ 5 คือ การนวดชา เป็นขั้นตอนที่ใช้น้ำหนักกดทับลงใบชา ขยี้ใบชา เพื่อให้เซลล์แตก เมื่อเซลล์แตกจะทำให้สารประกอบ ต่าง ๆ ที่อยู่ในเซลล์ไหลออกมานอกเซลล์และเคลือบ อยู่บนส่วนต่างๆของใบชา
ขั้นตอนที่ 6 คือ การอบแห้งชา เป็นขั้นตอนเพื่อลดความชื้นในใบชาให้เหลือประมาณ 5% เพื่อให้สามารถเก็บใบชาไว้ได้นาน วัตถุประสงค์ของการอบแห้ง 1. ลดความชื้น 2. รักษาคุณภาพในการเก็บรักษา 3. พัฒนากลิ่นรส
ขั้นตอนที่ 7 คือ การคัดเกรดและการบรรจุ หลังการอบแห้งจะเป็นการคัดเลือกเศษกิ่งก้านของใบ ชา และสิ่งเจือปนต่าง ๆ ออกจากใบชา เสร็จแล้ว นำไปบรรจุใส่ถุงในแพ็คแกจต่างๆทางการตลาด เพื่อรอจำหน่ายต่อไป
บทความที่น่าสนใจ
Thanks!