ธุรกิจค้าปลีก ศึกรายย่อยหรือร้านโชว์ห่วยปะทะค้าปลีกสมัยใหม่หรือModernTrade
ในปัจจุบันนี้ ธุรกิจค้าปลีก มีการแข่งขันเพื่อแย่งชิงตลาดกันอย่างรุนแรง ทั้งที่เป็นรายเล็กและรายใหญ่ต่างมีการแข่งขันกันในด้านต่างๆ เช่น การแข่งขันกันที่ราคาว่าใครถูกกว่าใคร อีกทั้งการออกโปรโมชั่นต่างๆเพื่อแย่งกลุ่มลูกค้าให้มาเป็นของตนให้มากที่สุด รวมถึงกลยุทธ์การขยายสาขาออกไปให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ให้มากที่สุด แม้แต่ผู้ค้าปลีกรายใหญ่ที่มีอุปสรรคด้านการหาพื้นที่ก่อสร้างก็เริ่มหันมาให้ความสนใจในการสร้างเป็นร้านค้าขนาดเล็กที่สามารถเข้าถึงชุมชนได้ง่ายกว่าอีกด้วย
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ธุรกิจในกลุ่มค้าปลีกที่เห็นจะได้รับผลกระทบมากที่สุดก็เห็นจะหนีไม่พ้นกลุ่มธุรกิจค้าปลีกรายย่อยหรือที่เรารู้จักกันในนามของโชว์ห่วยหรือร้านขายของชำ ซึ่งมีอยู่ทุกมุมเมืองและแทรกอยู่ตามทุกที่ที่มีชุมชน ซึ่งร้านโชว์ห่วยเหล่านี้เราอาจเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มธุรกิจที่อยู่คู่กับสังคมและชุมชนของคนไทยมาอย่างช้านาน
แต่เนื่องมาจากการที่ร้านค้าเหล่านี้มีเงินทุนหมุนเวียนในกิจการค่อนข้างน้อยทำให้ไม่สามารถต่อรองหรือแม้แต่แข่งขันกับธุรกิจค้าปลีกด้วยกันเองได้ เนื่องมาจากการที่เจ้าของอาจไม่มีความรู้มากเพียงพอที่จะทำการบริหารจัดการ หรือแม้แต่ร้านที่เจ้าของเป็นคนรุ่นใหม่มีความรู้ความสามารถอาจพยายามที่จะทำการตกแต่งร้านให้ทันสมัย และมีพนักงานที่คอยให้บริการก็แล้วแต่ แต่ก็ยังไม่มีความสามารถที่จะแข่งขันกับธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่หรือที่เรียกกันว่าModernTradeได้เนื่องจากธุรกิจค้าปลีกเหล่านี้มีเงินทุนจากต่างชาติเข้ามาสนับสนุนทำให้มีความสามารถในการต่อรองราคากับผู้ผลิตและนำสินค้ามาขายในราคาถูกกว่าร้านโชว์ห่วย
ดังนั้นในรายงานเล่มนี้จึงขอนำเสนอเกี่ยวกับรายระเอียดเบื้องต้นของธุรกิจค้าปลีกรายย่อยว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร อะไรที่ทำให้ธุรกิจผู้ค้าปลีกรายย่อยนี้ต้องเกิดปัญหา และข้อเสนอแนะที่อาจนำไปใช้ประโยชน์ในเบื้องต้นได้ และหวังว่าข้อมูลที่อยู่ในรายงานเล่มนี้จะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย
= ธุรกิจค้าปลีก =
– การค้าปลีก (Retailing) ประกอบด้วยกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจำหน่ายสินค้าและบริการไปยังผู้บริโภคคนสุดท้ายโดยตรง
– ร้านค้าปลีก (Retailer) เป็นองค์กรธุรกิจที่มีรายได้หลักมาจาก การดำเนินการในรูปแบบของการค้าปลีก
– การค้าปลีก อาจดำเนินการโดยองค์กรใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต ร้านค้าส่ง
หรือร้านคปลีก
– การค้าปลีกไปยังผู้บริโภคคนสุดท้าย ไม่คำนึงถึงวิธีการขาย หรือสถานที่ขาย
= ระดับบริการของ ธุรกิจค้าปลีก =
การบริการตนเอง (Self-service)
– ลูกค้ายินดีที่จะ “หา-เปรียบเทียบ-เลือก” สินค้าด้วยตนเอง เพื่อให้ได้สินค้าราคาประหยัด
การเลือกด้วยตนเอง (Self-selection)
– ลูกค้าหาสินค้าด้วยตนเอง ทั้ง ๆ ที่สามารถเรียกพนักงานได้
การให้บริการอย่างจำกัด (Limited service)
– ลูกค้าได้รับบริการบางอย่าง และผู้ขายก็ยินดีให้บริการ
การให้บริการเต็มที่ (Full service)
– ร้านค้ามีพนักงานไว้คอยให้บริการลูกค้า แม้ว่าต้นทุนจะสูง
= รูปแบบของ ธุรกิจค้าปลีก ประเภทต่างๆ =
การค้าปลีกแบบมีร้านค้า : ห้างสรรพสินค้า
ห้างสรรพสินค้า (Department Store) ร้านขนาดใหญ่ จำหน่ายสินค้าหลากหลายชนิด แบ่งเป็นแผนกต่าง ๆ อย่างเป็นหมวดหมู่ มีการแบ่งกลุ่มห้างสรรพสินค้าตามจำนวนสาขาและระดับของลูกค้าเป้าหมาย
– ระดับสูงมาก เช่น Zen และ Emporium
– ระดับสูง เช่น Central, Robinson และ The Mall
– ระดับกลาง-ล่าง ขึ้นอยู่กับที่ตั้งของสาขา เช่น Welco, Imperial, Tokyu, Pata, Jusco, ตั้งฮั่วเส็ง ฯลฯ
– ห้างท้องถิ่น เช่น แหลมทอง (หลายจังหวัดในภาคตะวันออก)
โอเชี่ยน (หลายจังหวัดในภาคใต้) ตันตราภัณฑ์ (เชียงใหม่)
การค้าปลีกแบบมีร้านค้า : ร้านค้าเฉพาะด้าน
ร้านค้าเฉพาะด้าน (Specialty Store) ร้านขนาดเล็ก จำหน่ายสินค้าน้อยชนิด เฉพาะประเภทใดประเภทหนึ่ง แต่มีรายการปลีกย่อยจำนวนมาก
– เช่น ร้าน Oscar จำหน่ายเทปเพลงและซีดี (ที่กาดสวนแก้ว)
– ร้าน Body Shop จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับร่างกาย
– ร้านสุริวงศ์บุ๊คเซ็นเตอร์ จำหน่ายหนังสือ
– ร้านขายดอกไม้
– ร้านขายเสื้อผ้า
– ร้านขายอาหารตามสั่ง
การค้าปลีกแบบมีร้านค้า : ร้านค้าประชันชนิด
ร้านค้าประชันชนิด (Category Killer) ร้านค้าเฉพาะด้านขนาดใหญ่ที่มุ่งเน้นความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ทั้งด้านความกว้างและความลึกของสายผลิตภัณฑ์
– เช่น ร้าน Power Buy และร้าน Power Mall
– ร้าน Super Sport และร้าน Power Sport
– ร้าน Office Depot และร้าน Makro Office
– ร้าน Home Pro และร้าน True Value
การค้าปลีกแบบมีร้านค้า : ร้านสะดวกซื้อ
ร้านสะดวกซื้อ (Convenience Store) ร้านขนาดเล็ก มักตั้งอยู่ใกล้ย่านพักอาศัย/ชุมชน บางแห่งเปิด 24 ชั่วโมง มีสินค้าน้อยชนิด โดยเป็นสินค้าที่มีอัตราการหมุนเวียนสูง มักจะมีเครื่องดื่มและอาหารอุ่นร้อนด้วย
– เช่น ร้าน 7-Eleven ร้าน Family Mart ร้านรักบ้านเกิด
ร้านสะดวกซื้อบางแห่งตั้งอยู่ในบริเวณปั๊มน้ำมัน จึงมีอีกชื่อหนึ่ง คือ G-Store (G ย่อมาจาก Gas Station)
– เช่น ร้าน Select (ปั๊ม Shell) ร้าน Star Mart (ปั๊ม Caltex) ร้าน Tiger Mart (ปั๊ม Esso), ร้าน Everyday (ปั๊ม Q8), ร้าน Jiffy (ปั๊ม Jet)
การค้าปลีกแบบมีร้านค้า : ร้านสรรพาหาร
ร้านสรรพาหาร หรือซูเปอร์มาร์เก็ต (Supermarket) ร้านขนาดปานกลางค่อนข้างใหญ่ จำหน่ายอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคพื้นฐาน มีต้นทุนค่อนข้างต่ำ ราคาเฉลี่ย ปานกลาง-ต่ำ จำหน่ายสินค้าปริมาณมาก ให้ลูกค้าบริการตนเอง
– เช่น Tops (ที่เซ็นทรัล โรบินสัน และสาขาเดี่ยว)
– Home Fresh Mart (ที่เดอะมอลล์)
– Plus One (ที่ตั้งฮั่วเส็ง และสาขาเดี่ยว)
– Sunny Supermarket (หลายสาขาใน กทม.)
– Foodland (หลายสาขาใน กทม. และพัทยา)
การค้าปลีกแบบมีร้านค้า : ห้างขนาดใหญ่
ห้างขนาดใหญ่ หรือ ซูเปอร์สโตร์ (Superstore) จำหน่ายสินค้าในชีวิตประจำวัน ทั้งอาหารและไม่ใช่อาหาร รวมทั้งมีบริการอื่น ๆ ซึ่งเปิดเป็นพื้นที่เช่าของร้านค้ารายย่อยรวมอยู่ด้วย เช่น ธนาคารสาขาย่อย ร้านซัก-รีด ร้านซ่อมรองเท้า-นาฬิกา เป็นต้น โดยห้างขนาดใหญ่ อาจเรียกว่า Discount Store หรือ Hypermarket
– เช่น Carrefour, Big C, Tesco Lotus
– ไม่นับรวม Makro
การค้าปลีกแบบมีร้านค้า : ร้านค้าปลีกราคาต่ำ
ร้านค้าปลีกราคาต่ำ (Off-price Retailer) จำหน่ายสินค้าในราคาต่ำกว่าที่จำหน่ายในร้านค้าปลีกทั่วไป เน้นสินค้าตรายี่ห้อที่เป็นที่รู้จัก (สินค้าแบรนด์เนม) คุณภาพสูง ซึ่งอาจเป็นสินค้าที่ตกรุ่น หรือมีตำหนิเล็กน้อย หรือผลิตมากเกินไปในประเทศไทย พบร้านค้าปลีกราคาต่ำที่ดำเนินการโดยบริษัทผู้ผลิตเอง เรียกว่า Factory Outlet จำหน่ายสินค้าในราคาประมาณครึ่งหนึ่งของราคาขายปลีกปกติ
– เช่น Fly Now Factory Outlet ของ Fly Now ที่ จ.เพชรบุรี , ร้าน DP Company ของ Dapper
การค้าปลีกแบบมีร้านค้า
ศูนย์การค้าศูนย์การค้า (Shopping Center) อาคารที่เปิดเป็นพื้นที่เช่าสำหรับร้านค้าปลีกต่าง ๆ มาอยู่รวมกัน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ซื้อในลักษณะที่เรียกว่า One-stop Shopping
มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พลาซ่า (Plaza)
– เช่น Siam Discovery, เกสรพลาซ่า, มาบุญครองเซ็นเตอร์, อุทยานการค้ากาดสวนแก้ว, เซ็นทรัล แอร์พอร์ต พลาซ่า, ศูนย์การค้า คอมพลาซ่า (เชียงใหม่)
การค้าปลีกแบบมีร้านค้า : ร้านโชว์ห่วย
ร้านโชว์ห่วย หรือ ร้านค้าของชำ (Grocery Store) หรือร้านค้าแบบดั้งเดิม (Traditional Store) ร้านขนาดเล็ก จำหน่ายสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน สินค้าในครัวเรือน ไม่เน้นความสวยงามในการตกแต่งร้าน จัดวางสินค้าไม่เป็นระเบียบนัก อาจมีสินค้าประเภทอาหารสด เนื้อสัตว์ และผักสดจำหน่ายด้วย เจ้าของร้านมีความคุ้นเคยกับลูกค้าเพราะเป็นคนในพื้นที่ กระจายตัวอยู่ทั่วไป ทั้งในเมืองและในชนบท
– เช่น ร้านป้าแดง ร้านลุงมา ร้านเจ๊กิม ร้านพี่หมวย ฯลฯ
= ลักษณะของ ธุรกิจค้าปลีก รายย่อยหรือร้านโชว์ห่วย =
ลักษณะทั่วไปของธุรกิจค้าปลีกรายย่อยหรือร้านโชว์ห่วย
– เป็นธุรกิจที่มักดำเนินกิจการในรูปแบบของกิจการภายในครอบครัว
– เจ้าของธุรกิจมักทำการดูแลกิจการด้วยตนเอง
– เป็นธุรกิจที่ไม่ต้องใช้เงินลงทุนสูง และใช้เงินทุนหมุนเวียนไม่มากนัก
– ที่ตั้งร้านค้าอาจเป็นส่วนหนึ่งของที่พักอาศัย เพื่อให้สามารถดูแลได้ง่ายและสะดวกต่อการทำงาน
– สถานที่ตั้งร้านค้ามักอยู่ตามแหล่งชุมชน เช่น หมู่บ้าน, ตลาด, โรงเรียน
– ประเภทของสินค้าที่ขายในร้านมีไม่หลากหลาย
– ร้านค้าประเภทนี้ส่วนมากจะไม่มีอำนาจการต่อรองกับผู้ผลิตเหมือนแต่ก่อน ทำให้ต้องซื้อสินค้าผ่านพ่อค้าคนกลาง หรือ ร้านค้าส่งอีกที จึงทำให้ต้องตั้งราคาสินค้าสูงขึ้น
– กลุ่มลูกค้ามีตั้งแต่ชนชั้นกลางถึงชั้นล่าง
– ถือเป็นร้านค้าที่อำนวยความสะดวกให้แก่คนในชุมชน เพราะสามารถเดินทางได้สะดวก
จุดเด่นของธุรกิจค้าปลีกรายย่อยหรือร้านโชว์ห่วย
– ถือเป็นแหล่งรวบรวมสินค้าขนาดเล็กเพื่อขายให้แก่ชุมชน
– ราคาสินค้าอาจสามารถต่อรองได้
– ผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าเป็นจำนวนน้อยหรือมากได้ตามความต้องการบริโภค
– ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าที่สดใหม่และมีให้เลือกหลายชนิดได้จากร้านค้าปลีกที่ตั้งอยู่ตามตลาด
– การซื้อขายสินค้าระหว่างผู้บริโภคและผู้ขาย มักเป็นไปด้วยความมีอัธยาศัยไมตรีต่อกัน
– ร้านค้าปลีกรายย่อยเหล่านนี้มีส่วนช่วยในการเชื่อมคนในชุมชนเข้าด้วยกัน
จุดด้อยของธุรกิจค้าปลีกรายย่อยหรือร้านโชว์ห่วย
– บริเวณร้านค้าอาจดูชำรุดทรุดโทรม ทำให้ไม่ดึงดูดใจให้ผู้บริโภคเข้าไปใช้บริการ
– สินค้าที่อยู่ในร้านโชว์ห่วยเหล่านี้มักไม่มีการติดป้ายบอกราคาสินค้า ทำให้ผู้บริโภคเกิดความไม่ไว้วางใจจากการถูกเอาเปรียบ
– ร้านค้าปลีกเหล่านี้มักตั้งอยู่ในสถานที่คับแคบจึงทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รับความสะดวกในเรื่องที่จอดรถ
– ราคาสินค้าโดยทั่วไปในร้านค้าปลีกเหล่านี้มักแพงกว่าราคาสินค้าที่ขายตามSuper Market ทั่วไป
– รูปแบบการจัดวางสินค้าในร้านโชว์ห่วยเหล่านี้มักจะไม่มีระเบียบ ไม่มีการแบ่งสินค้าเป็นหมวดหมู่
– การบริการลูกค้ายังทำได้ไม่ดีพอ
– เวลาเปิด-ปิดร้าน ไม่เป็นที่แน่นอน
= สถานการณ์ ธุรกิจค้าปลีก ในปัจจุบัน =
ในประเทศไทย ถ้าเราจะนับร้านค้าปลีกที่เป็นร้านค้าที่ตั้งอยู่ตามตึกแถว หรืออาคารพาณิชย์ และร้านค้าที่เป็นรูปแบบใหม่ เมื่อรวมกันแล้วจะมีร้านค้าทั้งสิ้นประมาณ 300,000 ร้านค้า มีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นกว่า 5 แสนล้านบาท โดยเราสามารถแยกร้านเหล่านี้ได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่
– ร้านค้ารูปแบบเก่า ( Traditional Trade ) เช่น ร้านโชว์ห่วย และร้านขายของชำ ซึ่งมีมูลค่าสัดส่วนในตลาดคิดเป็น 60% มีมูลค่าประมาณ 3 แสนล้านบาท
– ร้านค้ารูปแบบใหม่ ( Modern Trade ) เป็นร้านค้าที่มีการนำเอาแนวทางการบิหารจัดการรูปแบบใหม่เข้ามาใช้ในการบริหาร เช่น Tesco-Lotus, Big-C, 7-11ซึ่งมีมูลค่าสัดส่วนในตลาดคิดเป็น 40% มีมูลค่าคิดเป็น 2 แสนล้านบาท
ปัจจุบันถึงแม้ว่าตัวเลขมูลค่าของร้านรูปแบบใหม่นี้ จะมีสัดส่วนมูลค่าที่น้อยกว่า
ร้านค้ารูปแบบเก่าก็ตาม แต่แนวโน้มในอนาคตผู้บริโภคจะหันมาจับจ่ายใช้สอยกับร้านค้ารูปแบบใหม่มากกว่า โดยเราสามารถพิจารณาจากแนวโน้มของธุรกิจค้าปลีก และการเปรียบเทียบระหว่างห้างค้าปลีกขนาดใหญ่และร้านโชว์ห่วยได้ดังต่อไปนี้
แนวโน้มของ ธุรกิจค้าปลีก
– การค้าปลีกรูปแบบใหม่ ๆ ที่เชื่อมโยงร้านค้าประเภทต่าง ๆ เข้ามาอยู่ด้วยกัน เช่น ธนาคารในซูเปอร์มาร์เก็ต บริการอินเตอร์เน็ตในร้านเบเกอรี่ มุมกาแฟในร้านหนังสือ ห้างสรรพสินค้าและแหล่งบันเทิงภายในศูนย์การค้า
– มีการแข่งขันระหว่างร้านค้าปลีกต่างประเภทกัน เช่น Big C กับ Tops กับ B2S แข่งขันกันจำหน่ายเครื่องเขียน
– การขยายตัวของร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ส่งผลต่อต้นทุนและราคา ประเภทสินค้าที่มีจำหน่าย
– การลงทุนในเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของร้านค้าปลีก รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้า การทำ CRM
– การขยายตัวของร้านค้าปลีกข้ามชาติ เช่น Wal-Mart, Gaps, Marks and Spencer, McDonald’s
– การมุ่งเน้นการสร้างประสบการณ์ภายในร้าน เช่น การพบนักร้อง ในร้านขายเทปและซีดี สวนสนุกขนาดย่อมและการเต้นแอโรบิคในศูนย์การค้า/ห้างสรรพสินค้า/ร้านค้าขนาดใหญ่ บรรยากาศการดื่มกาแฟในร้าน Starbuck
– การแข่งขันระหว่างการค้าปลีกแบบมีร้านค้า และแบบไม่มีร้านค้า รวมถึงการเปิดเว็บไซต์ของร้านค้าขนาดใหญ่
– ฯลฯ
จากแนวโน้มนี้เราก็สามารถสรุปได้ในขั้นหนึ่งแล้วว่าถ้าธุรกิจร้านค้าปลีกขนาดย่อยหรือร้านโชว์ห่วย ถ้าไม่มีการปรับตัวไปตามกระแสก็ย่อมยากที่จะอยู่รอดในธุรกิจค้าปลีกนี้ ได้ ไหนจะต้องแข่งขันกันเองระหว่างร้านค้าปลีกขนาดเล็ก ยังต้องมารับมืจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของห้างขนาดใหญ่อีก
ตาราเปรียบเทียบระหว่างห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ (Discount Store )
กับร้านค้าปลีกรายย่อยหรือร้านโชว์ห่วย
= สรุปปัญหาของ ธุรกิจค้าปลีก รายย่อยหรือโชว์ห่วย =
จากตารางที่นำเสนอการเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างห้างค้าปลีกขนาดยักษ์กับร้านค้าปลีกรายย่อยรวมทั้งข้อมูลจากปัจจัยแวดล้อมอื่นๆนั้น เราสามารถสรุปออกมาเป็นปัญหาที่ร้านค้าปลีกต้องเผชิญในปัจจุบันได้ดังนี้
– ปัญหาเรื่องความแตกต่างด้านราคาที่สูงกว่าร้านค้าแบบใหม่ เนื่องมาจากการไม่มีอำนาจในการต่อรองราคาเหมือนห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ เพราะการเป็นธุรกิจที่มีเงินหมุนเวียนค่อนข้างน้อย ทำให้เวลาสั่งซื้อสินค้าจำต้องสั่งซื้อในปริมาณที่น้อยตาม ทำให้ไม่ได้รับความสนใจจากผู้ผลิตในการขายสินค้าให้ร้านค้าขนาดเล็กเหล่านี้เท่าไรนัก แต่ในทางตรงข้ามถ้าผู้ผลิตเหล่านี้สามารถนำสินค้าไปวางขายในห้างขนาดยักษ์เหล่านี้ได้ ก็จะทำให้ได้ผลกำไรมากกว่า
– ปัญหาเนื่องมาจากความไม่หลากหลายของสินค้าในร้านโชว์ห่วย ซึ่งไม่สามารถตอบสนองความต้องของผู้บริโภคได้ ไม่เหมือนกับร้านค้าแบบใหม่ที่มีสินค้าอุปโภค/บริโภคให้เลือกอย่างหลากหลาย
– การจัดแต่งรูปแบบของร้านโชว์ห่วย ไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย อีกทั้งยังไม่มีการพัฒนา ทำให้ลูกค้าไม่เกิดความดึงดูดใจในการเข้าไปใช้บริการ
– สถานที่ตั้งของร้านโชว์ห่วย ก็ถือเป็นอีกจุดอ่อนหนึ่ง โดยเฉพาะในเรื่องของที่จอดรถที่อาจไม่มี หรือถึงมีก็ไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้อย่างเพียงพอ
– มารยาทก็ถือเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ลูกค้ามีส่วนในการตัดสินใจที่จะเลือกใช้บริการหรือไม่ เพราะการที่เป็นกิจการภายในครอบครัวทำให้ผู้ขายไม่เคยต้องรับการอบรมด้านมารยาทในการขายเหมือนกับพนักงานตามร้านค้าแบบใหม่
– รูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของกลุ่มผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มชนชั้นกลาง ที่ถือได้ว่าเป็นฐานลูกค้าที่ใหญ่ที่สุด
– เศรษฐกิจในปัจจุบันก็ถือเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ส่งผลกระทบอย่างมากทั้งกับตัวผู้ขายที่ต้องซื้อสินค้าในราคาที่สูงขึ้น โดยเพาะผลกระทบที่มาจากการขึ้นราคาน้ำมัน และในส่วนของผู้ซื้อเมื่อค่าครองชีพถีบตัวสูงขึ้นในขณะที่ปริมาณรายได้เท่าเดิมก็จำเป็นที่จะต้องลดการบริโภคลงไปด้วย โดยการเลือกซื้อสินค้าที่มีราคาถูกกว่า
= การปรับปรุง ธุรกิจค้าปลีก รายย่อยหรือร้านโชว์ห่วย =
ข้อเสนอแนะต่อปัจจัยภายใน
– สถานที่ตั้ง นับเป็นปัจจัยแรกที่เจ้าของร้านต้องทำการพิจารณาเป็นลำดับแรก โดยต้องคำนึงถึงในเรื่องการคมนาคมที่สะดวก สามารถเข้าออกง่าย เพรายิ่งในปัจจุบันลูกค้าส่วนมากมักพิจารณาเรื่องที่จอดรถก่อนเป็นลำดับแรก เนื่องจากหลายครั้งที่ลูกค้าต้องการซื้อสินค้า แต่ก็ไม่สามารถแวะซื้อได้ เนื่องมาจากความไม่สะดวกด้านที่จอดรถนั่นเอง
– สภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกร้านค้า ก็ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการจัดวางสินค้าที่เป็นระเบียบและมีระบบที่ชัดเจน เช่น การแยกสินค้าประเภทเครื่องดื่มและของใช้ส่วนตัวออกจากกัน ไม่มีการวางปะปนกัน อาจจัดวางโดยแบ่งแยกชั้นอย่างชัดเจน นอกจากนั้นเรื่องความสะอาดทั้งภายในและภายนอกร้อนก็ต้องทำการดูแลให้สะอาดเรียบร้อยอย่างสม่ำเสมอด้วย
– ความหลาหลายของสินค้าก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สามารถดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาจับจ่ายใช้สอยภายในร้านได้เป็นอย่างดี เพราะโชว์ห่วยเป็นร้านค้าขนาดเล็กที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าเลือกซื้อสินค้าได้ตามความพอใจ ไม่ใช่เป็นการบังคับขาย หรือมีสินค้าให้ลูกค้าเลือกเพียงไม่กี่ประเภทเท่านั้น
– การสื่อสาร ณ จุดซื้อ เป็นเหมือนสื่อสุดท้ายที่ดึงดูดความสนใจและชักจูงให้เกิดการตัดสินใจซื้อ มีลูกค้าหลายคนที่นึกขึ้นได้ว่าจะซื้ออะไรจากการสื่อสาร ณ จุดซื้อ ซึ่งก็มีหลายประเภทด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการจัดตกแต่งร้านหรือการนำตัวสินค้ามาเป็นสื่อ หรือแม้แต่การติดโปสเตอร์ก็เช่นกัน
– การจัดกิจกรรมและการสาธิตสินค้า เพื่อสร้างความสนใจให้กับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายด้วยการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น การแจกสินค้าตัวอย่าง หรือการจัดซุ้มกิจกรรมเพื่อเล่นเกมและแจกของรางวัล
– การให้บริการของพนักงานขาย เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ เนื่องจากมีกลายครั้งที่ต้องสูญเสียลูกค้าไป ทั้งที่มีสินค้าวางจำหน่ายเหมือนร้านค้าอื่น อีกทั้งราคา
ก็ไม่ได้แตกต่างกัน แต่ลูกค้ากลับไปซื้อสินค้าจากร้านอื่นแทน เนื่องมาจากไม่พอใจในมารยาทและการต้อนรับของพนักงานขาย ดังนั้นเจ้าของร้านอาจมีการคัดสรรและฝึกอบรมเทคนิคและมารยาทให้กับพนักงานขายก่อนปฏิบัติจริง
ข้อเสนอแนะต่อปัจจัยภายนอก
– การจำกัดเขตห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ให้ออกไปอยู่นอกเมือง เพราะห้างเหล่านี้ถือเป็นอีกตัวการหนึ่งที่สร้างปัญหาการจราจรให้แออัดยิ่งขึ้น ถือเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้กับชุมชน
– การออกระเบียบให้ทั้งผู้ค้าปลีกรายใหญ่ ต้องติดราคาสินค้ามาตราฐานและห้ามขายต่ำกว่าราคาที่ติด และห้ามจัดรายการขายเกินปีละ 2 ครั้ง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับร้านค้าย่อย
– ออกมาตรการเก็บภาษีบำรุงท้องถิ่นของธุรกิจข้ามเขต เพื่อนำเงินในส่วนนี้มาพัฒนาพื้นที่ตลาดสด หรือบริเวณร้านค้าในเมืองให้ทันสมัย มีที่จอดรถและห้องน้ำ เพื่อที่จะเป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคและดึงดูดให้มาใช้บริการจากร้านค้าปลีกขนาดเล็กเหล่านี้เพิ่มขึ้น
– รัฐบาลอาจจัดสรรงบอุดหนุนเพื่อนำมาพัฒนาตลาดสดและลานการค้าขนาดใหญ่ ลักษณะคล้ายกับจตุจักร โดยการจัดหาสถานที่ มีการสร้างที่จอดรถ และห้องน้ำให้สะดวกและกว้างขวาง และแบ่งส่วนที่ค้าขายให้ผู้ขายเขามาทำการเช่าที่เพื่อขายสินค้า ซึ่งวิธีนี้น่าจะช่วยให้ผู้บริโภคหันมาใช้บริการกับร้านค้าเหล่านี้แทนเพราะก็ถือว่าสะดวกเท่าเทียมกับห้างใหญ่
– รัฐควรให้งบสนับสนุนธุรกิจของคนไทยให้มีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดการค้ามากขึ้น อาจโดยช่วยสนับสนุนเรื่องการวิจัย, การพัฒนาผลิตภัณฑ์, การพัฒนาการด้านบรรจุภัณฑ์, วิธีการทำการตลาด, การออกแบบตลาด, ฯลฯ เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้ามากขึ้น รวมทั้งการส่งเสริมให้มีการรวมตัวกันของผู้ผลิตในแต่ละผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรอง และสร้างช่องทางการจัดจำหน่ายของผู้ผลิตและร้านค้าย่อย
– มีการส่งเสริม หรืออุดหนุนให้เกิดร้านค้าสหกรณ์ผู้บริโภคสินค้า เพื่อให้ชุมชนหันมาซื้อสินค้าในสหกรณ์ร้านค้าปลีกในชุมชนของตน โดนมีแนวคิดว่าเมื่อร้านค้ามีกำไรก็จะคืนกำไรนั้นกลับสู่ชุมชน
– มีการออกผังเมืองทั้งในระดับชาติ ระดับชุมชน ระดับเมือง ระดับอำเภอและระดับจังหวัด กำหนดให้เครือข่ายค้าปลีกข้ามชาติต้องออกไปตั้งนอกเมืองที่ไม่มีชุมชนและตลาดสด
บทความที่น่าสนใจ การตลาด SME ไทยยุคใหม่ทำให้ถึงกึ๋นของคนซื้อ เมื่อ 4P ถูกคนใหญ่ยึดครอง
คลิป วิธีล้างคราบสติ๊กเกอร์ https://www.youtube.com/watch?v=nbzwy6jpeZA