วัฒนธรรมพื้นบ้าน กำลังจะหายไป
วัฒนธรรมพื้นบ้าน เป็นกิจกรรมที่ดีงาม เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีที่คนในท้องถิ่นถือปฏิบัติต่อกันเป็นทอดๆ
ปีนี้ก็ถือได้ว่าเป็นอีกปีหนึ่งที่มนุษย์เงินเดือน เด็กต่างจังหวัดคนหนึ่ง มีโอกาสที่จะได้กลับบ้านช่วงเทศกาลสงกรานต์ ถึงแม้ว่าช่วงเทศกาล การกลับบ้านช่วงนี้มันจะเป็นเรื่องลำบากสักนิดหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นจำนวนรถเยะ รถติด ปั๊มน้ำมันจะคับคั่งไปด้วยผู้คน ต้องแย่งกันเข้าห้องน้ำ ต้องต่อคิวซื้อของกินและเครื่องดื่มในร้านสะดวกซื้อ และสิ่งที่ฮิต ขาดไม่ได้นั่นก็คือ ร้านกาแฟชื่อดังที่ต้องรอต่อคิวนานมาก
แต่อุปสรรคนี้ยังน้อยมาก หากเปรียบเทียบกับความมุ่งมั่นหรือสิ่งที่มุ่งหวังที่จะได้กลับบ้าน นั้นคือการกลับบ้านเกิด ที่ได้ไปอยู่ต่างถิ่นในระยะเวลาหลายๆเดือน เพราะการกลับบ้านช่วงสงกรานต์ มักจะได้กลับไปเห็นครอบครัวที่อยู่กันพร้อมหน้า ได้เข้าร่วมกิจกรรม วัฒนธรรมพื้นบ้าน ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีวันหยุดเทศกาลต่างๆในหนึ่งปีเช่น เทศกาลเข้าพรรษา เทศกาลขึ้นปีใหม่สากล สำหรับเทศกาลสงกรานต์ในเขต อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก จะมีประเพณีพื้นบ้านหลายๆอย่าง ที่ยังคงสืบสานวํฒนธรรมจากรุ่นก่อนสู่คนรุ่นหลังดังนี้
ก่อนวันสงกรานต์มักจะมีการเตรียมความพร้อม การเตรียมวัตถุดิบต่างๆ เพื่อเอาไว้กินในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งประกอบด้วยวัตถุดิบจำพวกเนื้อสัตว์ มักจะมีการฆ่าสัตว์เพื่อแปรรูปอาหารกันก่อนวันสงกรานต์ หรือแม้แต่ผักต่างๆก็จะต้องเก็บ เตรียมเอาไว้ให้เรียบร้อย มีการทำขนมต่างๆ เอาไว้ล่วงหน้าเช่น ขนมจีนทำมือ ข้าวปิ้งกรอบ เพราะคนเฒ่าคนแก่ พูดกันต่อๆว่า ในช่วงวันสงกรานต์นั้น จะต้องไม่ทำอะไรที่เบียดเบียนสัตว์ พืชผักและสิ่งมีชีวิตต่างๆ เป็นวันหยุดของการทำมาหากิน ชึ่งช่วงก่อนวันสงกรานต์ของไทยเรานั้นจะมีธรรมเนียมคล้ายๆ กับวัฒนธรรมปีใหม่ของจีน นั่นคือวันจ่ายของจีนนั่นเอง
เทศกาลวันสงกรานต์ของชาติตระการประกอบด้วยวันสำคัญๆต่างๆ 3 วันด้วยกัน
วันที่1หรือวันแรกของเทศกาลสงกรานต์เป็นวันที่สนุกสนาน เป็นวันเที่ยว วันกิน หรือวันสังสรรค์ ในวัฒนธรรมของไทยพื้นบ้าน สำหรับผู้คนที่นับถือพระพุทธศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ก็มักจะไปทำบุญใส่บาตร ตามวัดต่างๆ
วัดต่างๆก็อัญเชิญองค์พระพุทธรูป จากศาลาลงมาประดิษฐานไว้ในที่สรงน้ำพระ เพื่อให้ประชาชนทั่วได้สักการะ โดยสถานที่สรงน้ำพระนั้น จะทำเป็นรางน้ำสำหรับเทน้ำใส่ แล้วปล่อยให้น้ำนั้นไหลลงไปอาบที่ตัวขององค์พระ
และในช่วงเย็นก็จะเป็นกิจกรรมทางสังคม โดยผู้คนภายในชุมชนในหมู่บ้าน ได้มีโอกาสพบปะพูดคุย มีกิจกรรมทำร่วมกันนั่นก็คือ การทำต้นปราสาทดอกไม้ (ต้นดอกไม้) โดยปราสาทดอกไม้ จะมีโครงสร้างทำจากไม้ไผ่ มาก่อรูปร่างเป็นรูปเจดีย์มี 1 ยอดแล้วนำดอกไม้สดมาตกแต่งให้สวยงาม
ซึ่งเป็นดอกไม้ที่ใช้สำหรับการประดับต้นดอกไม้ให้สวยงามนั้น ก็สามารถไปเก็บได้ตามป่าชุมชนหรือตามบ้านเรือน เมื่อทำต้นดอกไม้แล้วเสร็จ ในช่วงเวลาพรบค่ำ ชาวบ้านก็จะร่วมตัวกัน เพื่อทำการแห่ต้นปราสาทดอกไม้ (แห่ต้นดอกไม้) จากภายในหมู่บ้านไปยังวัด และเมื่อถึงวัดก็จะแห่รอบวิหารหรือศาลาวัด โดยเวียนขวา 3 รอบคล้ายๆกับการเวียนเทียน และในระหว่างการแห่ต้นปราสาทดอกไม้นั้นก็ ก็จะมีการเคาะเกราะไม้เป็นจังหวะ พร้อมๆกับการเต้นรำวงกันไปตลอดเส้นทาง ซึ่งในปัจจุบันจะมีการเปิดเพลงให้จังหวะ สร้างความสนุกสนานครื้นเครง
วันที่ 2 ของเทศกาลสงกรานต์เป็นวัน ที่ผู้คนในชุมชนจะพากันแห่ผ้าป่าไปตามบ้านต่างๆ ให้ครบเกือบทุกหลังคาเลยก็ว่าได้ ซึ่งคำศัพท์ของผ้าป่านี้เรียกว่า การแห่กันหลอน เมื่อขบวนต้นผ้าป่าผ่านไปบ้านของใคร บ้านของคนนั้นก็จะนำขนม ข้าวปลาอาหารออกมาเลี้ยงต้อนรับ ซึ่งจะมีการเล่นน้ำสงกรานต์ เต้นรำ สร้างความสนุกสนาน ได้เป็นอย่างดี
หลังจากกินเล่นเสร็จจากบ้านจากนี้ก็ไปบ้านนั้น ไปเรื่อยๆ จนตกถึงเวลาช่วงเย็นๆ ต้นผ้าป่าหรือต้นกันหลอนก็จะถูกแห่ไปที่วัด เพื่อไปทำการถวายผ้าป่าให้กับพระ ผ้าป่านี้จัดทำขึ้นเพื่อบำรุงพระพุทธศาสนา สำหรับเงินที่ได้ก็มักจะถูกเก็บไว้ซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้างภายในวัด หลังจากการเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา
ในปีนี้หมู่บ้านของเรา ยังมีการจัดกิจกรรม เพื่อหารายได้เข้าวัด โดยมีกิจกรรมที่ทำให้ชาวบ้านได้ร่วมสนุกอาทิเช่น หนูนาพาโชค กิจกรรมปาลูกโป่ง ปีนี้เป็นปีพิเศษซึ่งมีกิจกรรมรำวงย้อนยุค โดยปีนี้ผู้นำได้นำแม่บ้านที่มีอายุมากหน่อย มาเป็นสาวรำวง ซึ่งปีก่อนๆเคยนำแม่บ้านที่ยังสาวๆรวมทั้งนำเด็กวัยรุ่น มาเป็นอาสาสมัครสาวรำวง แล้วพบปัญหา มีการหึงหวงและเกิดการทะเลาะกัน เกิดขึ้น
วันที่ 3 เป็นวันแห่งครอบครัว วันนี้เป็นของคนในครอบครัว โดยส่วนใหญ่อยู่พร้อมหน้ากัน โดยที่ลูกๆจะนำน้ำไปใส่น้ำหอม โดยใช้ต้นว่านหอมหรือปรุงหอม มาทำเป็นน้ำมนต์พร้อมกับการทำขัน 5 เพื่อขอขมาลาโทษสิ่งที่บกพร่องระหว่างปี การพูดจา การกระทำที่ไม่ดีต่อกัน ให้อภัยซึ่งกันและกัน
โดยลูกๆจะเป็นฝ่ายขอขมาพ่อแม่ หลังจากนั้นก็จะอาบน้ำให้พ่อแม่ พ่อแม่ก็จะให้พรลูกๆ พร้อมกับผูกข้อมือให้ลูก วันนี้ถือได้ว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย เป็นวันเปลี่ยนศักราชใหม่และในปีนี้ ที่บ้านของผมเองได้จัดทำผ้าป่าและได้ทำบุญบ้านไปพร้อมๆกัน ด้วยการนิมนต์พระมาสวดมนต์ที่บ้าน แล้วถวายสังฆทาน ถวายผ้าป่า กรวดน้ำให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว
ทีเด็ดวันหลังสงกรานต์ นับได้ว่าเป็นวันเอาฤกษ์เอาชัย เป็นวันที่ผมรู้สึกดี เพราะโดยส่วนใหญ่แล้ว จะมีการทำพิธีสู่ขวัญ ผูกข้อมือ โดยผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน จะมาผูกข้อมือพร้อมกับอวยพรสิ่งดีๆ ให้แก่ผม และในวันนี้ก็เป็นอีกวันหนึ่งที่มีการแห่ต้นปราสาทดอกไม้ (แห่ต้นดอกไม้) เป็นวันสุดท้าย
ในวันที่ 3 นี้ นอกจากจะมีการทำต้นปราสาทผึ้งเพิ่มขึ้นอีก 1 ต้น โดยต้นประสาทผึ้งนั้น จะทำขึ้นจากการนำแม่พิมพ์ไปชุบกับขี้ผึ้งที่ต้มในน้ำร้อนๆ แล้วนำไปชุบในน้ำเย็น หลังจากนั้นก็แกะดอกผึ่งออกไปตกแต่งตามโครงสร้างของต้นประสาทผึ้งที่ทำไว้ ซึ่งเป็นโครงสร้างคล้ายๆกับต้นปราสาทต้นดอกไม้
หลังจากนั้นก็แห่ไปที่วัด ในวันเดียวกันนี้เอง ยังมีการทำธงชัยของหมู่บ้าน โดยธงชัยนั้นจะทำจากด้าย 7 สี ไปถักกับไม้รูปกากบาก คล้ายกับไม้กังเขน แต่ระยะของปลายไม้นั้นจะเท่ากันทุกๆด้าน หลังจากนั้นจะนำละชิ้นไปผูกโยงต่อกันหลายๆอัน เริ่มจากอันใหญ่ลงไปหาเล็ก
แล้วนำธงชัยดังกล่าวไปผูกไว้กับเสาไม้ไผ่ หลังจากนั้นจึงนำเสาธงไปปักไว้ด้านหน้าหมู่บ้านและท้ายหมู่บ้าน เพื่อเป็นการเอาฤกษ์เอาชัยดีๆให้เข้าสู่หมู่บ้าน
แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงเพราะในสมัยนี้ผู้คน หนุ่มสาวมักจะเดินทางไปทำงานตามเมืองหลวงหรือจังหวัดที่มีอุตสาหกรรม กันจนหมด แล้วคนยุคก่อนหน้าจากไป อาจจะทำให้ประเพณีเหล่านี้ค่อยๆลบเลือนหายไป แล้ววัฒนธรรมที่ดีงามเหล่านี้ ที่ทำให้คนในหมู่บ้านในชุมชนได้มีโอกาสทำงานร่วมกัน ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน เกิดเป็นความรัก ความสามัคคีกลมเกลียวกัน ก็จะสูญหายไปด้วยหรือไม่
การขาดคนรุ่นหลังสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามเหล่านี้ จะทำให้วัฒนธรรมของคนพื้นถิ่นหายไปแล้วมีวัฒนธรรรมท้องที่อื่นหรือวัฒธรรมเมืองเข้าไปแทนที่ ความเป็นเผ่าพันธ์ุหรือ วัฒนธรรมพื้นบ้าน ก็จะหายไป กลายเป็นต่างคนต่างอยู่ แม้แต่บ้านที่อยู่ติดกันก็ไม่รู้จักกัน ขาดความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เป็นสังคมแห่งการแก่งแย่ง จนในที่สุดก็จะทำให้ชุมชนนั้นๆไม่น่าอยู่อีกต่อไป
บทความที่น่าสนใจ ทำบุญด้วยอะไร ถึงได้บุญมากและมีอานิสงส์สูง
ของเล่นภูมิปัญญาไทย ของเล่นไทยพื้นบ้าน ของเล่นโบราณ ทําเอง
ชมคลิป https://www.youtube.com/watch?v=Xq_k0nWQPAc