อัตราส่วนทางการเงิน เป็นเครื่องมือตรวจสอบความแข็งแรงบริษัท
by
besterlife
·
Published
· Updated
อัตราส่วนทางการเงิน คือเครื่องมือในการตรวจสอบความไม่ดีและดีของกิจการ อัตราส่วนทางการเงิน ที่ใช้ชั่วชีวิตของนักลงทุน ได้แก่
อัตราส่วนทางการเงิน
-
อัตราส่วนสภาพคล่องทางการเงิน (Current Ratio)
Current Ratio = สินทรัพย์หมุนเวียน/หนี้สินหมุนเวียน
กิจการจะปรากฏสภาพคล่องทางการเงินก็ต่อเมื่อ กิจการมีสินทรัพย์หมุนเวียนสูงกว่าหนี้สินหมุนเวียน จึงส่งผลให้ Current Ratio นี้มากกว่า 1 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ากิจการสามารถแปลงสินทรัพย์หมุนเวียนในทุกรายการ เช่น ลูกหนี้การค้า สินค้าคงเหลือ ฯลฯ ไปเป็นเงินสดเพื่อนำมาชำระหนี้ทั้งหมดที่ปรากฏในรายการหนี้สินหมุนเวียน
ข้อพึงระวังในการตรวจสอบ Current Ratio ต้องให้ความสนใจมากเป็นพิเศษตรงรายการของสินทรัพย์หมุนเวียน ซึ่งมีรายการหลักๆ 3 รายการ คือ เงินสดและเงินฝากธนาคาร สินค้าคงเหลือ ลูกหนี้การค้า รายการที่นอกเหนือคือรายการที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมทางธุรกิจปกติ เช่น ลูกหนี้เงินกู้ยืมกรรมการ ซึ่งเป็นการนำเงินสดไปปล่อยกู้ให้กับกรรมการ โดยที่กรรมการนำเงินกู้ไปใช้ในกิจการส่วนตัว อาจกล่าวได้ว่าเป็นการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินอย่างถูกกฎหมาย แต่จะต้องมีการทำสัญญาเงินกู้ยืมเงิน (ซึ่งส่วนใหญ่มีอายุ 1 ปี แต่สามารถต่อสัญญาใหม่ได้)
อีกรายการหนึ่งที่ต้องพิจารณาคือ รายการค่าใช้จ่ายล่วงหน้า ซึ่งเป็นรายการหนึ่งในสินทรัพย์หมุนเวียน หากมีการจ่ายเพื่อการให้ได้มาซึ่งเครื่องจักรหรืออุปกรณ์โดยเป็นการจ่ายออกไปเพียงบางส่วน ขอให้ระลึกไว้ว่า ยังจะต้องมีเงินอีกจำนวนหนึ่งที่ต้องชำระให้กับผู้ขายเครื่องจักรและอุปกรณ์นั้น ดังนั้นการเกิดรายการค่าใช้จ่ายล่วงหน้าจะส่งผลให้เงินสดของกิจการในอนาคตอันใกล้ลดลง (สินทรัพย์หมุนเวียนลดลง) เมื่อนำเงินสดจ่ายค่าเครื่องจักรและอุปกรณ์ รายการเงินสดที่ลดลงรวมกับรายการค่าใช้จ่ายล่วงหน้า จะถูกเปลี่ยนไปเป็นรายการสินทรัพย์ถาวรเต็มจำนวน ทำให้ Current Ratio ลดลงทันที
-
อัตราส่วนสภาพคล่องทางการเงินอย่างถึงแก่น (Quick Ratio)
Quick Ratio = ( สินทรัพย์หมุนเวียน – สินค้าคงเหลือ) / หนี้สินหมุนเวียน
หมายความว่า สินค้าคงเหลือเป็นรายการที่ไม่ค่อยจะมีเสถียรภาพ ทั้งนี้เพราะการลงทุนในสินค้าคงเหลือมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากสินค้าอาจล้าสมัย และทำให้เสื่อมค่าได้อย่างรวดเร็ว หรือเลวร้ายกว่านั้นอาจต้องตัดเป็นการสูญเปล่าในเงินลงทุนก็ได้ ดังนั้นเมื่อสินค้าคงเหลือไม่มีความคล่องตัวหรือขาดศักยภาพในการแปลงเป็นเงินสด จึงสมควรเอาออกจากรายการของสินทรัพย์หมุนเวียนเพื่อให้สินทรัพย์หมุนเวียนเหลือแต่รายการที่มีคุณสมบัติและศักยภาพในการแปลงเป็นเงินสดได้จริงๆ
อัตราส่วน Quick Ratio ที่ดีควรมีค่ามากกว่า 1 จึงจะสะท้อนศักยภาพในการชำระหนี้ได้ดี
-
อัตราการหมุนเวียนของลูกหนี้การค้า (Account Receivable Turnover)
Account Receivable Turnover จะหมุนที่รอบถี่หรือรอบต่ำ การหมุนรอบถี่หมายความว่า การให้เครดิตทางการค้าที่สั้นมาก ถ้าการหมุนเวียนของลูกหนี้การค้ารอบต่ำ คือการให้เครดิตนาน ดังนั้นกว่าจะได้รับชำระเงินค่าขายจึงต้องรอและลุ้นไปเรื่อยๆ การให้เครดิตทางการค้าสามารถขจัดคู่แข่งที่มีฐานเงินทุนต่ำได้ เพราะการให้เครดิตยาวนานขึ้น กิจการต้องสำรองวัตถุดิบและเงินเพื่อจ่ายค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพิ่มสูงขึ้น หากคู่แข่งมีเงินลงทุนต่ำก็จะต้องปิดกิจการไปด้วยเหตุการขาดสภาพคล่องทางการเงิน ในขณะเดียวกันความเสี่ยงของท่านก็สูงขึ้นจากการที่ลูกหนี้การค้าอาจมีปัญหาขึ้นได้
เทคนิคการคาดการณ์อัตราการหมุนของลูกหนี้การค้า
-
ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่ากิจการนั้นเป็นกิจการที่คู่แข่งมาหรือน้อยเช่นไร และขณะเดียวกันสินค้าของกิจการเป็นสินค้าในความต้องการของตลาดหรือไม่ และลูกค้ากลุ่มเป้าหมายคือใคร
-
การคาดการณ์จนได้คำตอบในใจแล้ว สามารถนำไปตรวจสอบงบการเงินของกิจการว่ามีทิศทางของการบริหารธุรกิจสอดคล้องตรงกับข้อเท็จจริงหรือไม่อย่างไร
สูตรการคำนวณอัตราการหมุนเวียนของลูกหนี้การค้าและการตีความหมาย
Account Receivable Turnover = ยอดขายเชื่อ/ลูกหนี้การค้า
ยอดขายที่ปรากฏอยู่ในงบกำไรขาดทุน บางงบจะแยกรายการขายเงินสดและขายเงินเชื่อออกจากกัน ให้ใช้ยอดขายเชื่อ แต่หากกรณีงบกำไรขาดทุนไม่มีการแยกคือแสดงยอดขายรวม ก็อนุโลมให้ใช้ยอดขายทั้งหมด เพราะปัจจุบันธุรกิจเกือบทั้งหมดต้องให้เครดิตลูกค้า
ในส่วนของลูกหนี้การค้าจะปรากฏเป็นรายการในงบดุลด้านสินทรัพย์หมุนเวียน
การเก็บเงินจากลูกหนี้การค้าได้จำนวนมากรอบต่อปี แสดงให้เห็นว่ากิจการมีการปล่อยเครดิตการค้าสั้น และกิจการมีคุณภาพของลูกหนี้การค้าที่ดี
-
ระยะเวลาเก็บหนี้โดยเฉลี่ย (Days Receive)
มีความสัมพันธ์กับอัตราการหมุนเวียนของลูกหนี้การค้า คือ อัตราการหมุนเวียนของลูกหนี้การค้า บ่งบอกว่า กิจการมีลูกหนี้การค้าที่ถูกแปลงเป็นเงินสดกี่ครั้งในรอบ 1 ปี ดังนั้นหากเราเอาระยะเวลาตลอด 1 ปีตั้ง และหารด้วยจำนวนครั้ง (รอบ) ของลูกหนี้การค้าที่สามารถแปลงเป็นเงินสดได้ เราก็จะได้ระยะเวลาการเก็บเงินจากลูกหนี้ หรือเราจะทราบเวลาการให้เครดิตของกิจการ
Days Receive = 365 วัน/Account Receivable Turnover
-
อัตราการหมุนเวียนสินค้าคงคลัง (Inventory Turnover)
สินค้าคงคลังเป็นสินทรัพย์หมุนเวียนชนิดหนึ่งที่มีความจำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลงรายการเป็นเงินและลูกหนี้การค้า อันเนื่องมาจากกิจการนำสินค้าคงเหลือออกขายโดยการขายเงินสด ก็จะปรากฏเป็นเงินเพิ่มเข้ามาในกิจการ และการขายเงินเชื่อก็จะปรากฏเป็นลูกหนี้การค้าเพิ่มเข้ามาในกิจการ โดยการเพิ่มขึ้นของเงินสดและลูกหนี้การค้ารวมกันจะสูงกว่ารายการของสินค้าคงเหลือที่ขายไป เพราะสินค้าคงเหลือถูกบันทึกรายการในงบดุลด้วยราคาต้นทุน ส่วนการขายที่ปรากฏยอดรายได้ในงบกำไรขาดทุนเป็นการขายที่มีส่วนต่าง
Inventory Turnover = ต้นทุนสินค้าขาย/ สินค้าคงคลัง
โดยที่รายการต้นทุนสินค้าขายปรากฏอยู่ในงบกำไรขาดทุน ส่วนสินค้าคงคลังปรากฏอยู่ในงบดุล
อัตราการหมุนเวียนของสินค้าคงคลังใช้ทำนายรูปแบบของการผลิต
-
Inventory Turnover รอบสูงมีความหมายว่า กิจการทำการผลิตอย่างคึกคัก
-
ถ้าตลาดดี มีคำสั่งซื้อมาก ก็จะปรากฏรอบสูง
-
ถ้าหมุนรอบต่ำ อธิบายได้ว่า สินค้าอาจอยู่ในตลาดที่ชะลอตัว ทำให้กิจการกำลังเข้าสู่ปัญหาทางการเงิน เพราะเงินลงทุนของกิจการจมอยู่ในรูปของสินค้าคงเหลือ
-
อีกกรณีหนึ่ง มีความเป็นไปได้ว่าเกิดการผลิตสินค้าคงเหลือตามนโยบาย และยังไม่ได้จำหน่ายออกไปในรอบระยะเวลาบัญชีของปีนั้น เนื่องด้วยสินค้าคงเหลือที่ปรากฏเป็นสินค้าใหม่ต้องรอการทำตลาดในปีต่อไป
ความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการหมุนของลูกหนี้การค้าและอัตราการหมุนของสินค้าคงคลัง
กิจการมีลูกหนี้การค้าจำนวนมาก บ่งบอกได้ถึงภาวะตลาดที่สดใส หรือบอกได้ถึงปัญหาการเก็บเงินจากลูกหนี้การค้าอาจเกิดขึ้น ดังนั้นต้องดูที่อัตราการหมุนเวียนของลูกหนี้การค้า เพื่อยืนยันและตรวจสอบไปถึงนโยบายที่กิจการปล่อยเครดิตทางการค้า ซึ่งจะตอบได้ว่ากิจการมีลูกหนี้การค้าอยู่ในภาวะปกติหรือไม่
รายการของสินค้าคงเหลือ ถ้ามีมากเกินไป ต้องดูอัตราการหมุนเวียนของสินค้าคงคลังประกอบด้วย
กรณีศึกษาความสัมพันธ์ของอัตราการหมุนเวียนของลูกหนี้การค้าและอัตราการหมุนเวียนของสินค้าคงคลัง
-
หากอัตราการหมุนเวียนของลูกหนี้การค้า หมุนรอบสูง สะท้อนให้เห็นว่ากิจการอยู่ในภาวะการตลาดที่ดี และกิจการเก็บหนี้จากการปล่อยเครดิตได้ด้วย เราจะพบว่าอัตราการหมุนเวียนของสินค้าคงคลังต้องหมุนรอบสูงด้วย
-
ความสัมพันธ์ระหว่าง Account Receivable Turnover และ Inventory Turnover ไปในทิศทางเดียวกัน
-
หากความสัมพันธ์เกิดสวนทางกัน แสดงให้เห็นว่า
-
กรณี Account Receivable Turnover หมุนรอบสูง แต่ Inventory Turnover หมุนรอบต่ำ แสดงว่า กิจการขายสินค้าได้ดี และตามเก็บหนี้ได้ แต่สินค้าคงเหลือที่ปรากฏในงบดุลอาจมีสินค้าเก่าค้างสต๊อก หรือ สินค้าคงเหลือในงบดุลมีสินค้าใหม่ปะปนมา ซึ่งสินค้าใหม่นั้นถูกผลิตก่อนสิ้นงวดแต่จะทำตลาดในงวดบัญชีถัดไป จึงทำให้ Inventory Turnover ต่ำ
-
กรณีที่ Account Receivable Turnover หมุนรอบต่ำ และ Inventory Turnover หมุนรอบต่ำ อธิบายได้ว่า กิจการเร่งทำการผลิตเพื่อเพิ่มสต๊อกสินค้าไว้เป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุว่าภาวะตลาดไม่สดใส แต่กิจการคาดว่าในอนาคตสินค้าที่ผลิตสะสมไว้จะขายได้ เพราะกิจการอุตสาหกรรมหากไม่ทำการผลิตก็จะขาดทุนค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหารทุกเดือน ซึ่งที่จริงแล้วมีความเสี่ยงมาก
-
กรณีที่ Account Receivable Turnover หมุนรอบต่ำ แต่ Inventory Turnover หมุนรอบสูง อธิบายได้คล้ายๆ กับกรณี 2)
-
ระยะเวลาการผลิตโดยเฉลี่ย (Inventory Days)
ต้องหามาจาก Inventory Turnover ก่อน
Inventory Days = 365 วัน/Inventory Turnover
สามารถใช้ทำนายการใช้ทุนของกิจการ ว่าการลงทุนของกิจการนั้นเน้นการใช้แรงงานหรือเน้นการใช้เครื่องจักร ถ้ามีค่าต่ำแสดงว่ามีการใช้เครื่องจักรที่ทันสมัยจึงใช้เวลาการผลิตไม่สูงมากนัก
-
อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนทุน (Debts to Equity Ratio)
เป็นอัตราส่วนที่แสดงให้เห็นว่ากิจการมีสถานะความมั่นคงมากน้อยขนาดไหน พิจารณาจากสมการบัญชี
สินทรัพย์ (Assets) = หนี้สิน (Depts) + ทุน ( Equity)
การเกิดของสินทรัพย์ต้องมาจากการก่อหนี้หรือใส่ทุนเพิ่ม อัตราส่วนนี้ยิ่งต่ำยิ่งดี คือการใช้ทุนในการสร้างสินทรัพย์ถาวรมาก โดยเฉพาะธนาคารจะชอบอัตราส่วนนี้ต่ำๆ เพราะปลอดภัยในการให้กู้ เนื่องจากแสดงว่ากิจการมีสินทรัพย์ที่ปลอดภาระอีกมาก อีกเหตุผลหนึ่งคือ การที่กิจการใส่ทุนในการดำเนินกิจการมากๆ แสดงว่า กิจการให้ความรักและใส่ใจกิจการ ดังนั้นเมื่อลงทุนไปเยอะคงจะต้องต่อสู้กับปัญหาและอุปสรรคจนสำเร็จให้ได้ การให้กู้ของสถาบันการเงินจึงเกี่ยวข้องกับอัตราส่วนนี้
-
อัตราส่วนความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย (Interest Coverage Ratio)
ใช้อธิบายความสามารถในการคืนหนี้ของกิจการ มีสูตรดังนี้
Interest Coverage Ratio = กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่ายและภาษี/ดอกเบี้ยจ่าย
ถ้าอัตราส่วนนี้มีค่ามาก หมายถึง กิจการมีผลประกอบการเป็นกำไรในปริมาณที่สูง และมีเงินสดเหลือพอนำมาชำระดอกเบี้ยจ่ายได้ อย่างไรก็ตาม หากิจการมีอัตราการหมุนเวียนของลูกหนี้การค้าต่ำ ก็อาจอธิบายได้ว่า รายได้จากการขายสินค้าของกิจการจมอยู่ในรายการลูกหนี้การค้า เพราะยอดขายที่ปรากฏอยู่ในงบกำไรขาดทุนเป็นยอดขายที่รวมการขายเชื่อ ดังนั้นแม้ว่าอัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้จะสูง ก็ไม่ได้หมายความว่ากิจการมีศักยภาพในการชำระดอกเบี้ยคืน
ดังนั้น จึงต้องดูอัตราส่วนนี้ควบคู่ไปกับอัตราการหมุนเวียนของลูกหนี้ด้วย หากไม่เป็นไปตามนโยบายของกิจการ อัตราส่วนนี้ก็ไร้ความหมาย
วิธีปฏิบัติที่นิยมใช้กันและตอบได้ว่ากิจการมีความสามารถในการชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย โดยการจัดทำงบประมาณกระแสเงินสดโครงการ (Cash Flow Projection) ซึ่งแม้กิจการจะประสบปัญหา ณ ปัจจุบัน แต่กิจการอาจมีเงินสดสะสมไว้มากพอจนไม่มีปัญหาการคืนหนี้ก็ได้
-
อัตราส่วนกำไรเบื้องต้นต่อยอดขาย (Gross Profit Margin)
Gross Profit Margin = กำไรเบื้องต้น/ ยอดขาย
นำข้อมูลมาจากงบกำไรขาดทุน กำไรเบื้องต้นคือรายการของยอดขายหักออกด้วยวัตถุดิบที่ใช้ไป (ต้นทุนสินค้าขาย) คือ ขายสินค้าออกไปเท่าไรก็ให้คิดต้นทุนสินค้าเฉพาะที่มีการขายออกไป ห้ามนับรวมสต๊อกสินค้าคงเหลือที่ยังไม่ได้ขาย
ธรรมชาติของอัตราส่วนกำไรเบื้องต้นต่อยอดขาย
-
ธุรกิจที่เน้นการใช้แรงงาน จะปรากฏกำไรเบื้องต้นในอัตราสูง โดยธุรกิจประเภทนี้จะมีต้นทุนการสินค้าขายต่ำ และมีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหารสูง กำไรจึงไม่มากอย่างที่คิด
-
ธุรกิจที่เน้นการใช้ทุน จะปรากฏกำไรเบื้องต้นในอัตราที่ไม่สูงมากนัก เพราะต้นทุนสินค้าขายที่สูง ในขณะทิ่ค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหารต่ำ ทั้งนี้เพราะระบบการผลิตใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย ใช้แรงงานน้อย
-
ธุรกิจทั้งประเภทที่เน้นการใช้แรงงานและธุรกิจที่เน้นการใช้ทุน ทั้งสองกรณีนำไปสู่การเกิดขึ้นของกำไรสุทธิที่ไม่แตกต่างกันมากนัก
-
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจที่เน้นการใช้ทุนมีความได้เปรียบในแง่ของการพัฒนาและวางระบบการจัดการ ดังนั้นจึงดูจะมีเสถียรภาพในการดำเนินธุรกิจมากกกว่า
-
กำไรสุทธิต่อยอดขาย (Net Profit Margin)
Net Profit Margin = ( กำไรสุทธิ x 100 ) /ยอดขาย
ธรรมชาติของกำไรสุทธิต่อยอดขาย จะคล้ายกับเรื่องกำไรเบื้องต้นต่อยอดขาย
การทำนายธรรมชาติของธุรกิจด้วย อัตราส่วนทางการเงิน
-
อัตราส่วนสภาพคล่องบอกได้ว่ากิจการประสบความสำเร็จหรือไม่ และทำนายสภาพคล่องทางการเงิน
อัตราส่วนในที่นี้คือ อัตราส่วนสภาพคล่องทางการเงิน (Current Ratio) และอัตราส่วนสภาพคล่องทางการเงินอย่างถึงแก่น (Quick Ratio) อัตราส่วนทั้งสองหากมีผลลัพธ์ที่สูง เช่น 2:1 , 3:1 , 4:1 หรือในทิศทางที่สูงขึ้นแสดงว่ากิจการประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง หากกิจการอยู่ในภาวะที่กำลังประสบปัญหา และต้องการเงินทุนสำรองเพิ่ม อัตราส่วนทางการเงินทั้งสองจะต่ำกว่า 1 หรือเท่ากับหรือมากกว่านิดหน่อย ก็บอกได้แล้วว่า กิจการกำลังประสบปัญหาเงินทุนหมุนเวียน
-
อัตราการหมุนเวียนของลูกหนี้การค้า (Account Receivable Turnover) บ่งบอกประเภทของตลาด ประเภทของตลาดสินค้า เช่น ตลาดผูกขาด ตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด ตลาดผู้ขายน้อยราย และตลาดแข่งขันสมบูรณ์ โดยแต่ละตลาดจะให้เครดิตทางการค้าไม่เหมือนกัน
-
ระยะเวลาเก็บหนี้โดยเฉลี่ย (Days Receive) ทำนายหนี้มีปัญหาในกิจการ
ผลลัพธ์ที่ปรากฏต้องนำมาเทียบเคียงกับนโยบายเครดิตของกิจการ
-
อัตราการหมุนเวียนของสินค้าคงคลัง (Inventory Turnover) ใช้ทำนายลักษณะของการลงทุนและทำนายภาวะตลาดได้ด้วย
บ่งบอกได้ถึงการที่กิจการเป็นกิจการที่เน้นปัจจัยแรงงาน หรือเน้นปัจจัยทุน
-
Inventory Days กับการทำนายระยะเวลาการผลิตสินค้าจนประทั่งนำออกขาย
-
อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนทุน (Depts to Equity Ratio) ทำนายความมั่งคงของกิจการและทำนายวิธีการจัดโครงสร้างเงินลงทุนของกิจการ
-
บอกให้รู้ว่าสินทรัพย์สร้างขึ้นมาจากรายการใดเป็นสำคัญ (มาจากหนี้สินหรือส่วนทุน)
-
บอกให้รู้ว่ากิจการมีโครงสร้างของการลงทุนที่เหมาะสมหรือไม่ โดยหากกิจการมีหนี้สินส่วนทุนอยู่ในอัตราสูง ก็แสดงว่า กิจการก่อหนี้เพื่อสร้างรายการของสินทรัพย์มากกว่าใช้เงินลงทุนของตัวเอง
-
อัตราส่วนนี้ที่สูงๆ สถาบันการเงินมักไม่ยินดีปล่อยเงินกู้ เพราะกิจการมีความเสี่ยงต่อการชำระหนี้คืนธนาคาร เพราะสินทรัพย์ส่วนใหญ่ติดภาระ (สร้างขึ้นจากหนี้สิน)
-
อัตราส่วนนี้ที่สูงๆ บ่งบอกให้กิจการรู้ว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องประกาศเพิ่มทุน เพื่อลดอัตราส่วนนี้ลง เพราะกิจการจะขาดโอกาสในการขอสินเชื่อเพื่อการขยายธุรกิจ และขาดศักยภาพในการฝ่าวิกฤตทางการเงินในยามที่ธุรกิจเกิดปัญหา
-
อัตราส่วนที่เหมาะสม ไม่ควรเกิน 2:1 และสำหรับกิจการที่เริ่มต้นไม่ควรเกิน 5:1
-
อัตราส่วนนี้บ่งบอกนิสัยของเจ้าของธุรกิจว่าเป็นเช่นไร
Related
Tags: การวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงินวิธีวิเคราะห์งบการเงินอัตราส่วนทางการเงิน
You may also like...