เศรษฐกิจพอเพียง ปรัชญาการดำเนินชีวิต
จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและระบบการสื่อสาร ทำให้ผู้คนต่างพยายามที่จะก้าวเดินให้ทันกับความทันสมัย เกิดการแก่งแย่งแข่งขันจนบางครั้ง ทำให้ชีวิตไม่มีความสมดุล ถึงแม้ว่าจะได้สิ่งที่ต้องการแล้วก็ตาม หากมีสิ่งใหม่ๆ สินค้าใหม่หรือสินค้าเดิมแต่ออกรุ่นใหม่ ก็จะกระตุ้นกิเลส จนทำให้คนเราขาดการไตร่ตรองอย่างละเอียดรอบคอบ ใช้เงินและใช้ชีวิตฟุ่มเฟือยแบบสุดโต่ง อาจจะกลายเป็นคนล้มเหลวในชีวิตได้
วันนี้ Besterlife.com ขอน้อมนำ เศรษฐกิจพอเพียง มาเล่าสู่กันฟังอีกครั้งดังนี้
เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชดำริ เป็นแนวทางการดำเนินชีวิต แก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอด ตลอดระยะเวลานานมากกว่า 25 ปี ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจและภายหลังทรงได้เน้นย้ำ แนวทางในการแก้ไขปัญหา เพื่อให้รอดพ้นและสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์และการเปลี่ยนแปลงต่างๆ
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาชี้นำถึงแนวทางการดำเนินอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชนจนถึงระดับรัฐ ทั้งในแง่การพัฒนาและการบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์
ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องสร้างระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการกระทบใดๆ อันเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอก ทั้งนี้จะต้องอาศัยความ รอบรู้ความรอบคอบและความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำวิชาการต่างๆมาปรับใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน และในขณะเดียวกันจะต้องมีการสร้างเสริมพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎีและนักธุรกิจในทุกระดับ
ให้มีจิตสำนึกในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริตและให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม รวมถึงการดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความพากเพียร มีสติปัญญา มีความรอบคอบ เพื่อให้เกิดความสมดุลและมีความพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งทาง ด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม จากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี
เศรษฐกิจพอเพียง
เศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชดำริชี้แนะแนวทางในการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรไทยนี้ เป็นแนวทางการดำเนินชีวิต ดำเนินกิจการงานต่างๆ ซึ่งประกอบไปด้วย มีเหตุผลพอประมาณและมีภูมิคุ้มกัน หากนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับใช้กับการดำเนินชีวิต ย่อมส่งผลดีต่อตนเอง ประเทศชาติ มีประชากรที่มีความเป็นอยู่อย่างพอเพียงและมีความมั่นคงมีความสุข
ซึ่งแนวทางการประยุกต์ใช้ หลักเศรษฐกิจพอเพียง กับการดำเนินชีวิตมีดังนี้
1 ความมีเหตุผล การใช้ทุกอย่างในชีวิตอย่างมีเหตุผลคือ พอเพียงไม่ใช่ไม่ใช้เลย แต่เราต้องใช้ทุกอย่างให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด การใช้ทรัพยากรทุกอย่างให้คุ้มค่าเท่ากับการประหยัดนั้นเอง และการประหยัดมัน จะทำให้เกิดความมั่นคงไปในตัว
2 ความพอประมาณหมายถึง ต้องใช้อย่างประหยัด ใช้ให้พอดีเท่าที่จำเป็น โดยนำทรัพยากรที่มีไปใช้สร้างประโยชน์ ซึ่งผ่านการพิจารณาเป็นอย่างดีแล้วและใช้ไม่เกินตัว
3 มีภูมิคุ้มกัน ในยามที่ตนเองมีรายได้มากๆ ก็ควรเก็บออมหรือแบ่งส่วน ควรใช้เท่าที่จำเป็นและเหลือจากนั้นก็ควรมีการเก็บออมหรือไม่ก็นำไปลงทุนไว้ใช้ยามเกิดวิกฤต การทำเช่นนี้จะทำให้เรามีจิตสำนึกและภูมิคุ้มกันที่ดี
ด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นแนวทางให้ฝ่าพ้นวิกฤตไปได้ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระองค์มีความหมายครอบคลุมถึงการดำเนินชีวิตในทุกๆด้าน ซึ่งรวมถึงการใช้อย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ
บทความที่แนะนำ แนวคิดการพัฒนาคุณภาพชีวิต วิธีพัฒนาตนเองให้รุ่งเรื่องและประสบความสำเร็จ