วัฒนธรรมพื้นบ้าน กำลังจะหายไป
วัฒนธรรมพื้นบ้าน เป็นกิจกรรมที่ดีงาม เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีที่คนในท้องถิ่น
ปีนี้ก็ถือได้ว่าเป็นอีกปีหนึ่งที่มนุษย์เงินเดือน เด็กต่างจังหวัดคนหนึ่ง ซึ่งมีโอกาสที่จะได้กลับบ้านช่วงเทศกาลสงกรานต์ ถึงแม้ว่าช่วงเทศกาลการกลับบ้านมันจะลำบากนิดหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นจำนวนรถเยะ รถติด ปั๊มน้ำก็จะมันคับคั่งไปด้วยผู้คน ต้องแย่งกันเข้าห้องน้ำ ต้องต่อคิวซื้อของกิน เครื่องดื่มในร้านสะดวกซื้อ และสิ่งที่ฮิต ขาดไม่ได้นั่นก็คือ ร้านกาแฟชื่อดังที่ต้องรอต่อคิวนานมาก
แต่อุปสรรคนี้ยังน้อยมาก หากเปรียบเทียบกับความมุ่งมั่นหรือสิ่งที่มุ่งหวัง นั้นคือเป้าหมายหลังจากที่ไม่ได้กลับบ้านเกิดเป็นหลายๆเดือน การกลับบ้านช่วงสงกรานต์ ก็จะได้กลับไปเห็นครอบครัวได้อยู่กันพร้อมหน้า ได้เข้าร่วม วัฒนธรรมพื้นบ้าน หลังจากที่ไม่ได้พบกันหลายๆเดือน หลังจากเทศกาลขึ้นปีหใม่สากล เทศกาลสงกรานต์ในต่างจังหวัดโดยเฉพาะในเขต อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก จะมีประเพณีพื้นบ้านหลายๆอย่าง ที่ยังคงสืบสานจากคนรุ่นก่อนดังนี้
ก่อนวันสงกรานต์มักจะมีการเตรียมความพร้อม การเตรียมวัตถุดิบต่างๆ เพื่อเอาไว้กินในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งวัตถุดิบจำพวกเนื้อสัตว์ ก็มักจะมีการฆ่าแปรรูปกันก่อนวันสงกรานต์ ผักต่างๆก็จะต้องเก็บ เตรียมเอาไว้ให้เรียบร้อย ขนมต่างๆ ก็ต้องทำเอาไว้เช่น ขนมจีนทำมือ ข้าวปิ้งกรอบ เพราะคนเฒ่าคนแก่ เขาบอกต่อๆกันมาว่า ในช่วงวันสงกรานต์นั้น จะต้องไม่ทำอะไรที่เบียดเบียนสัตว์ พืชผักและสิ่งมีชีวิตต่างๆ ช่วงก่อนวันสงกรานต์ในเทศกาลปีใหม่ของไทย ก็จะมีธรรมเนียมคล้ายๆ กับวัฒนธรรมปีใหม่ของจีนนั่นก็คือ วันจ่ายของจีนนั่นเอง
วันสงกรานต์ของไทยประกอบด้วยวันสำคัญๆ 3 วันด้วยกัน วันแรกของสงกรานต์เป็นวันที่สนุกสนาน เป็นวันเที่ยว วันกิน หรือวันสังสรรค์ ในวัฒนธรรมของไทยพื้นบ้าน สำหรับผู้คนที่นับถือพระพุทธศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ก็มักจะไปทำบุญใส่บาตร ตามวัดต่างๆ
วัดต่างๆก็อัญเชิญองค์พระพุทธรูป จากศาลาลงมาประดิษฐานไว้ในที่สรงน้ำพระ เพื่อให้ประชาชนทั่วได้สักการะ โดยที่สรงน้ำพระนั้น จะทำเป็นรางน้ำสำหรับเทน้ำใส่ แล้วปล่อยให้น้ำนั้นไหลลงไปอาบที่ตัวขององค์พระ
และในช่วงเย็นก็จะเป็นกิจกรรมทางสังคม ที่ทำให้คนภายในชุมชนในหมู่บ้าน ได้มีโอกาสพบปะพูดคุย มีกิจกรรมทำร่วมกันนั่นก็คือ การทำต้นปราสาทดอกไม้ (ต้นดอกไม้) โดยปราสาทดอกไม้ จะมีโครงสร้างทำจากไม้ไผ่ มาก่อรูปร่างเป็นรูปเจดีย์มี 1 ยอดแล้วนำดอกไม้สดมาตกแต่งให้สวยงาม
ซึ่งเป็นดอกไม้ที่ใช้ในการนำมาประดับให้สวยงามนั้น ก็สามารถไปเก็บได้ตามป่าชุมชนหรือตามบ้านเรือน ในช่วงเวลาพบค่ำ ชาวบ้านก็จะร่วมกันแห่ต้นปราสาทดอกไม้ (แห่ต้นดอกไม้) จากในหมู่บ้านไปยังวัด และเมื่อถึงวัดก็จะแห่รอบวิหารหรือศาลาวัด โดยเวียนขวา 3 รอบคล้ายๆกับการเวียนเทียนและในระหว่างการแห่ต้นปราสาทดอกไม้นั้นก็ ก็จะมีการเคาะเกราะไม้เป็นจังหวะ พร้อมๆกับการเต้นรำวงกันไปตลอดเส้นทาง ซึ่งในปัจจุบันจะมีการเปิดเพลงให้จังหวะ สร้างความสนุกสนานครื้นเครง
วันที่ 2 ของเทศกาลสงกรานต์เป็นวัน ผู้คนในชุมชนจะพากันแห่ผ้าป่าไปตามบ้านต่างๆ ให้ครบเกือบทุกหลังคาเลยก็ว่าได้ ซึ่งคำศัพท์ของผ้าป่านี้เรียกว่า การแห่กันหลอน เมื่อขบวนต้นผ้าป่าผ่านไปบ้านของใคร บ้านของคนนั้นก็จะนำขนม ข้าวปลาอาหารออกมาเลี้ยงต้อนรับ ซึ่งจะมีการเล่นน้ำสงกรานต์ เต้นรำ สร้างความสนุกสนาน
หลังจากนั้นก็จากบ้านนี้ไปบ้านนั้น ไปเรื่อยๆ จนตกช่วงเย็นๆ ต้นผ้าป่าหรือต้นกันหลอนก็จะถูกแห่ไปที่วัด เพื่อทำการถวายผ้าป่าให้กับพระ ผ้าป่านี้จัดทำขึ้นเพื่อบำรุงพระพุทธศาสนา เงินที่ได้ก็มักจะถูกเก็บไว้ซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้างภายในวัด หลังจากการเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา
ในปีนี้หมู่บ้านของเรา ยังมีการจัดกิจกรรม เพื่อหารายได้เข้าวัด โดยมีกิจกรรมให้ชาวบ้านได้ร่วมสนุกอาทิเช่น หนูนาพาโชค กิจกรรมปาลูกโป่ง ปีนี้เป็นปีพิเศษมีกิจกรรมรำวงย้อนยุค ซึ่งนำแม่บ้านที่มีอายุมากหน่อยมาเป็นสาวรำวง เพราะปีก่อนๆเคยนำแม่บ้านที่ยังสาวๆอยู่หรือจะเป็นเด็กวัยรุ่น มาเป็นอาสาสมัครสาวรำวงแล้วพบว่า มักจะเกิดปัญหา มีการหึงหวงและเกิดการทะเลาะกัน เกิดขึ้น
วันที่ 3 เป็นวันแห่งครอบครัว วันนี้เป็นวันที่คนในครอบครัวโดยส่วนใหญ่อยู่พร้อมหน้ากัน โดยลูกๆจะนำน้ำไปใส่น้ำหอม ซึ่งจะใช้ต้นว่านหอมหรือปรุงหอม มาทำเป็นน้ำมนต์พร้อมกับการทำขัน 5 เพื่อขอขมาลาโทษสิ่งที่ได้ผิดใจกันระหว่างปี
โดยลูกๆจะเป็นฝ่ายขอขมาพ่อแม่ หลังจากนั้นก็จะอาบน้ำให้พ่อแม่ พ่อแม่ก็จะให้พรลูกๆ พร้อมกับผูกข้อมือให้ลูก วันนี้ถือได้ว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย เป็นวันเปลี่ยนศักราชใหม่และในปีนี้ ที่บ้านของผมเองได้จัดทำผ้าป่าและได้ทำบุญบ้านไปพร้อมๆกัน ด้วยการนิมนต์พระมาสวดมนต์ที่บ้าน แล้วถวายสังฆทาน ถวายผ้าป่า กรวดน้ำให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว
ทีเด็ดวันหลังสงกรานต์ นับได้ว่าเป็นวันเอาฤกษ์เอาชัย เป็นวันที่ผมรู้สึกดี เพราะโดยส่วนใหญ่แล้ว จะมีการทำพิธีสู่ขวัญ ผูกข้อมือ โดยผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน จะมาผูกข้อมือพร้อมกับอวยพรสิ่งดีๆ ให้แก่ผม และในวันนี้ก็เป็นอีกวันหนึ่งที่มีการแห่ต้นปราสาทดอกไม้ (แห่ต้นดอกไม้) เป็นวันสุดท้าย
ในวันที่ 3 นี้ นอกจากจะมีการทำต้นปราสาทผึ้งเพิ่มขึ้นอีก 1 ต้น โดยต้นประสาทผึ้งนั้น จะทำขึ้นจากการนำแม่พิมพ์ไปชุบกับขี้ผึ้งที่ต้มในน้ำร้อนๆ แล้วนำไปชุบในน้ำเย็น หลังจากนั้นก็แกะดอกผึ่งออกไปตกแต่งตามโครงสร้างของต้นประสาทผึ้ง ที่ทำไว้โดยเป็นโครงคล้ายๆกับต้นปราสาทต้นดอกไม้
หลังจากนั้นก็แห่ไปวัด ในวันเดียวกันนี้เอง ยังมีการทำธงชัยของหมู่บ้าน โดยธงชัยนั้นจะทำจากด้าย 7 สี ไปถักกับไม้กากบาก คล้ายกับไม้กังเขน แต่มีระยะเท่ากันทุกด้าน หลังจากนั้นจะนำละชิ้นไปผูกต่อกันหลายๆอัน เริ่มจากอันใหญ่ลงไปหาเล็ก
แล้วนำธงชัยดังกล่าวไปผูกไว้กับเสาไม้ไผ่ หลังจากนั้นจึงนำเสาธงไปปักไว้ด้านหน้าหมู่บ้านและท้ายหมู่บ้าน เพื่อเป็นการเอาฤกษ์เอาชัยดีๆให้เข้ามาในหมู่บ้าน
แต่ในสมัยนี้คนหนุ่มสาวมักจะเข้าไปทำงานตามเมืองหลวงหรือจังหวัดที่มีอุตสาหกรรม หากหมดคนยุคนี้หรือคนยุคก่อนหน้าแล้ว บางครั้งประเพณีเหล่านี้อาจจะค่อยลบเลือนไปในที่สุด ซึ่งวัฒนธรรมที่ดีงามเหล่านี้ จะทำให้คนในหมู่บ้านในชุมชนมีโอกาสได้ทำงานร่วมกัน ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ก็จะเกิดเป็นความรัก มีความสามัคคีกลมเกลียวกัน
การที่ไม่มีคนรุ่นหลังสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีดีงามเหล่านี้ จะทำให้วัฒนธรรมของคนพื้นเมืองเข้าไปแทนที่ ความเป็นเผ่าพันธ์ุหรือ วัฒนธรรมพื้นบ้าน ก็จะหายไปกลายเป็นต่างคนต่างอยู่ แม้แต่บ้านที่อยู่ติดกันก็ไม่รู้จักกัน ขาดความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เป็นสังคมแห่งการแก่งแย่ง จนในที่สุดก็จะทำให้ชุมชนนั้นๆไม่น่าอยู่อีกต่อไป
บทความที่น่าสนใจ ทำบุญด้วยอะไร ถึงได้บุญมากและมีอานิสงส์สูง
ของเล่นภูมิปัญญาไทย ของเล่นไทยพื้นบ้าน ของเล่นโบราณ ทําเอง
ชมคลิป https://www.youtube.com/watch?v=Xq_k0nWQPAc