วิสัยทัศน์ (Vision) บริษัทแห่งวิสัยทัศน์ที่มั่งคั่ง มั่นคงและยั่งยืน

           บทความจากหนังสือเล่มนี้เน้นไปที่เนื้อหาของบริษัทแห่งวิสัยทัศน์ ซึ่งแต่ละบริษัทที่ได้นำมาเป็นตัวอย่างนั้นถือได้ว่าเป็นบริษัทที่เป็นที่รู้จักกันดีของวงการธุรกิจในระดับสากล ไม่ว่าจะเป็น บริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน , บริษัท ไอบีเอ็ม , บริษัทโซนี่ , วอลมาร์ท , วอลท์ ดีสนีย์ และอีกหลายบริษัทที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นบริษัทแห่งวิสัยทัศน์ อะไรที่ทำให้บริษัทเหล่านี้กลายมาเป็นบริษัทแห่งวิสัยทัศน์ จะขอสรุปเนื้อความโดยย่อจากหนังสือ BUILT TO LAST

วิสัยทัศน์

วิสัยทัศน์

วิสัยทัศน์ (Vision) คือ เป้าหมายขององค์กรในช่วงเวลาระยะกลางถึงระยะยาว (ประมาณ 3-10 ปี)

องค์ประกอบของวิสัยทัศน์ที่ดีประกอบด้วย

    1. เป้าหมายระยะยาว (Stretch goal)  เป้าหมายขององค์กรควรเป็นตำแหน่งขององค์กรที่แตกต่างจากปัจจุบัน แสดงถึงความทะเยอทะยานขององค์กร

    2. ตำแหน่งขององค์กรในตลาด (Definition of niche)  ตำแหน่งขององค์กรเชิงธุรกิจในตลาด
3. ช่วงเวลา (Time horizon) ช่วงเวลาที่เป้าหมายตามวิสัยทัศน์บรรลุผลสำเร็จ

     บริษัทแห่ง วิสัยทัศน์ คือ บริษัทหรือองค์กรหนึ่งที่มีความเป็นเลิศรวมทั้งได้รับการยกย่องจากบริษัทต่างๆ โดยในสายตาของคนทั่วไปการที่บริษัทหนึ่งๆจะกลายมาเป็นบริษัทแห่งวิสัยทัศน์ได้นั้น จะต้องประกอบไปด้วย

  • การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนั้นๆ

  • เป็นที่ยกย่องโดยทั่วไปในวงการธุรกิจ

  • การสร้างตำนานให้คงอยู่

  • มีการสร้างผู้นำขึ้นมาอย่างมากมาย

  • ผ่านวงจรของกระบวนการผลิตสินค้าและบริการมาอย่างยาวนาน

  • ก่อตั้งมาก่อนปี1950

โดยทั่วไปแล้วแม้จะดูเหมือนบริษัทแห่งวิสัยทัศน์เหล่านี้มีความเป็นเลิศในทุกด้าน แต่อันที่จริงแล้วความสำเร็จที่เกิดขึ้นกับบริษัทไม่ได้ขึ้นอยู่กับผลิตภัณฑ์ การมีผู้นำที่มีความสามารถ ความสามารถในการผลิต หรือแม้กระทั้งโชค แต่เกิดขึ้นมาจากการที่ต้องต่อสู้กับอุปสรรคหรือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยที่ยังสามารถคงคุณค่าหลักหรืออุดมคติของบริษัทไว้ได้

วิสัยทัศน์ 10 ประการ

1. มีความคิดที่ยิ่งใหญ่ หรือผู้นำที่ยิ่งใหญ่

            การที่จะก้าวมาเป็นบริษัทแห่ง วิสัยทัศน์ ได้นั้นไม่จำเป็นที่จะต้องเริ่มด้วยการมีความคิดที่ยิ่งใหญ่ หรือผู้นำที่ยิ่งใหญ่ เพราะส่วนมากการเริ่มด้วยความคิดที่ยิ่งใหญ่นั้นมักเป็นอุปสรรคต่อบริษัทมากกว่า ดังนั้นส่วนมากของบริษัทแห่งวิสัยทัศน์จึงมักเริ่มด้วยการเป็นบริษัทเล็กๆ ที่ได้ลองผิดลองถูกเรื่อยมา แต่ก็ยังคงที่จะยึดอุดมคติหลักในขั้นต้นไว้อย่างเหนียวแน่น

            ในอีกมุมมองหนึ่งที่ทำให้บริษัทแห่งวิสัยทัศน์แตกต่างจากบริษัททั่วไป คือ แนวคิดที่มองว่า “ผลิตภัณฑ์ถือเป็นพาหนะที่ใช้ในการบรรทุกบริษัท” ในขณะที่บริษัททั่วไปมองว่า “บริษัทเป็นพาหนะที่บรรทุกผลิตภัณฑ์ไปสู่ตลาด” ดังนั้นในบริษัทแห่งวิสัยทัศน์ การสร้างผลิตภัณฑ์ที่ประสบความสำเร็จในตลาดไม่ถือเป็นผลงานที่ยิ่งใหญ่ แต่ความสำเร็จที่แท้จริงก็คือ การสามารถสร้างบริษัทขึ้นมาด้วยการมุ่งเน้นความคิดไปที่การก่อตั้งและการบริหารงานให้มีความเป็นปึกแผ่น รวมทั้งการจัดสรรระบบภายในต่างๆ ซึ่งจะไม่เน้นไปที่กาตัดสินใจจากผู้บริหารแต่เพียงคนเดียวเท่านั้น แต่จะมีการดึงความรู้ความสามารถของพนังงานทุกคนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยที่มีหลักปรัชญาของบริษัทเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว

            ดังนั้นจะมองได้ว่าบริษัทแห่งวิสัยทัศน์เหล่านี้จะให้ความสำคัญในเรื่องของ “คน” ว่าเป็นสิ่งที่สมควรให้คุณค่ามากที่สุด เพราะถึงแม้องค์การจะสามารถประสบความสำเร็จได้จากการที่ผู้บริหารมีความสามารถ แต่ถ้าผู้บริหารคนนั้นออกไปจากบริษัท บริษัทอาจไม่มีความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะคงอยู่เพื่อรับความเปลี่ยนแปลงได้ แต่การที่พนักงานทุกคนในบริษัทรู้และเข้าใจถึงอุดมคติหลักของบริษัทแล้ว  ก็จะทำให้บริษัทมีรากฐานที่มั่นคงเพียงพอและยืนหยัดรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาได้

2. ยึดถืออุดมคติควบคู่ไปกับการดำเนินกิจการ

            ทุกบริษัทและทุกองค์กรย่อมมีการตั้งเป้าหมายสูงสุดในการดำเนินกิจการ คือ การได้รับกำไรสูงสุด แต่บริษัทแห่งวิสัยทัศน์นั้นนอกจะดำเนินกิจการเพื่อให้ได้มาซึ่งผลกำไรแล้วนั้น ก็ยังยึดถืออุดมคติควบคู่ไปกับการดำเนินกิจการและสามารถนำพาบริษัทไปสู่ความสำเร็จได้อีกด้วย

  • มักเป็นบริษัทที่ยึดมั่นในอุดมคติ

  • เป็นบริษัทที่มักเริ่มต้นด้วยหลักการ ก่อนความร่ำรวยหรือมั่งคั่ง

  • มุ่งเน้นในด้านของงานมากกว่าตัวเลข

  • ยินดีที่จะรับมือกับความยุ่งยากของเทคโนโลยี

  • เน้นไปที่ความเป็นเลิศของผลิตภัณฑ์ที่สามารถเป็นประโยชน์ต่อสังคม

  • เน้นไปที่ความสามารถของบุคคลในการทำงานเพื่อให้สำเร็จลุล่วง

แต่อย่างไรก็ตามแม้จะมีอุดมคติหรือหลักการที่สวยหรู การนำไปปฏิบัติหรือประยุกต์ใช้ได้นั้นก็ถือเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง โดยที่พนักงานทุกคนต้องทราบและเข้าใจอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะผู้บริหารที่จะต้องคัดเลือกขึ้นมาเพื่อให้สมกับอุดมการณ์ของบริษัท เพราะจะต้องเป็นผู้ที่นำเอา ยุทธศาสตร์ วัตถุประสงค์ นโยบาย หรือการออกแบบการปฏิบัติงานในด้านต่างๆมาประยุกต์ให้เหมาะสมกับอุดมคติของบริษัท

3. การปรับตัวบริษัทให้นำหน้าและก้าวทันภาวการณ์เปลี่ยนแปลง

            นอกจากอุคมคติหลักของบริษัทและการนำมาปฏิบัติให้เกิดผลจะช่วยสร้างให้บริษัทกลายเป็นบริษัทแห่งวิสัยทัศน์ได้นั้น การปรับตัวบริษัทให้นำหน้าและก้าวทันภาวการณ์เปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาก็ถือเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน ดังนั้นบริษัทจึงต้องพร้อมที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลง โดยที่ยังสามารถคงความเชื่อหลักเอาไว้เพื่อที่จะใช้เป็นหลักยึดเหนี่ยวในการดำเนินกระบวนการต่างๆเพื่อให้บรรลุสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ ซึ่งสิ่งที่จำเป็นอย่างมากคือการไม่สับสนระหว่างอุดมการณ์หลักกับยุทธศาสตร์ เป้าหมาย หรือสิ่งอื่นๆ เพราะเหล่านี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่อุดมการณ์หลักจะไม่เปลี่ยนแปลง

            นอกจากนี้บริษัทแห่งวิสัยทัศน์มักไม่พอใจกับการหยุดนิ่งกับผลงานอันใดอันหนึ่ง หรือกับความสำเร็จใดที่ได้รับมาก็ตาม แต่จะเน้นไปที่การมีการพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง ซึ่งบริษัทเหล่านี้มักได้เปรียบในด้านนี้เนื่องมาจากการมีรากฐานที่ดี ทำให้การเปลี่ยนแปลงนั้นมีหลักยึดที่ชัดเจน สรุปได้ว่าบริษัทแห่งวิสัยทัศน์แตกต่างจากบริษัทอื่น ที่

  • มีความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง

  • กล้าที่จะอยู่และล่มสลายไปกับบริษัท

  • มีการลองถูกผิดหลายอย่าง และเก็บไว้เฉพาะอันที่ใช้ได้

  • มีการใช้ความรู้ความสามารถจากพนักงานภายใน

  • ไม่มีคำว่าเสร็จแล้ว

4.ความกล้าที่จะเสี่ยง

            ความกล้าที่จะเสี่ยง และกล้าที่จะท้าทายถือเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้คนในบริษัทสามารถก้าวไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้ โดยหลักสำคัญคือ การที่พนักงานทุกคนต้องเข้าใจถึงวัตถุประสงค์หลักที่บริษัทต้องการก้าวไปสู่ ซึ่งบริษัทแห่งวิสัยทัศน์นั้นต้องมีการวางแผนและคำนวณถึงการกระทำทุกอย่างไว้เรียบร้อยแล้ว และการกระทำในทุกๆเรื่องนั้นก็ต้องมั่นใจว่าจะสำเร็จ เพราะความผิดพลาดที่เกิดขึ้นถือเป็นการสูญเสียอย่างใหญ่หลวง

            บริษัทบางแห่งเมื่อขาดผู้นำองค์การไปอาจทำให้ทิศทางการดำเนินการต่างๆล้มเหลวหรือพลาดเป้าได้ แต่การมีอุดมการณ์ที่สม่ำเสมอและไม่เปลี่ยนแปลง ความกล้าและความพร้อมที่จะร่วมไปกับเป้าหมายของบริษัท และทำให้พนักงานรู้สึกมีส่วนร่วมนั้น ถือเป็นพลังจากภายในที่จะช่วยให้องค์การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงโดยไม่หลงทิศทางไปได้

5.การปรับตัวเพื่อให้เข้ากับอุดมการณ์

            บริษัทแห่งวิสัยทัศน์นั้นอาจเป็นบริษัทที่ดูดีเลิศในทุกๆด้าน แต่ก็ไม่จำเป็นเสมอที่จะต้องเป็นที่ทำงานที่ดีหรือเหมาะสมกับทุกคนเสมอไป คนที่จะเหมาะสมกับบริษัทได้นั้นต้องทำการปรับตัวเพื่อให้เข้ากับอุดมการณ์ของบริษัทให้ได้ เนื่องมาจากตัวบริษัทเองที่มีการเรียกร้องและคาดหวังในการยึดถืออุดมการณ์รวมทั้งการนำเอาอุดมการณ์นั้นๆไปปฏิบัติได้ค่อนข้างสูง ดังนั้นพนักงานที่ขาดความตั้งใจก็อาจจะถูกกดดันและต้องออกจากบริษัทในที่สุด

            ลักษณะเด่นของบริษัทแห่งวิสัยทัศน์มีดังนี้

  • ยึดมั่นอุดมการณ์

  • ปลูกฝังความคิดและมุมมอง

  • แน่นด้วยเนื้อหาและวิธีการปฏิบัติ

  • ทำให้พนักงานรู้สึกว่าตนอยู่อยู่ในองค์การที่ดีเลิศ

จากหลักการเหล่านั้น ทำให้พนักงานในบริษัทแห่งวิสัยทัศน์ มุ่งทำภารกิจต่างๆที่ได้รับมาเพื่อให้บรรลุผลที่เป็นเลิศได้ โดยที่องค์การมีการสนับสนุนทั้งในด้านการจัดฝึกอบรมต่างๆเพื่อวางรากฐานและปลูกฝังความคิดกับพนักงาน มีการเน้นให้เกิดการพบปะและพูดคุยกันระหว่างพนักงาน สิ่งนี้ทำให้บุคลากรในบริษัท เกิดจุดร่วมในด้านต่างๆขึ้นมา เช่น ภาษา กระบวนการปฏิบัติงาน และที่สำคัญที่สุด คือ การเข้าใจถึงอุดมการณ์หลักของบริษัท ทำให้พนักงานทุกคนสามารถปฏิบัติงานได้ตามาตรฐานที่วางเอาไว้ของบริษัทได้

6.การกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง

            ก่อนที่บริษัทแห่ง วิสัยทัศน์ เหล่านี้จะสามารถประสบความสำเร็จได้นั้น ส่วนมากจะมีรูปแบบการบริหารที่เป็นการลองผิดลองถูก ไม่ได้มาจากแผนการหรือยุทธศาสตร์ที่ดีเด่น หรือการได้พบกับความสำเร็จตั้งแต่ต้น แต่บางครั้งก็ต้องอาศัยโชคหรือโอกาส ซึ่งไม่ว่าความสำเร็จที่ได้รับมานั้นจะมาจากรูปแบบใดๆก็ตาม แต่ก็ยังคงยึดมั่นซึ่งอุดมการณ์หลักของบริษัทเสมอมา ดังนั้นจึงสามารถที่จะบอกได้ว่า การกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง และยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการลองผิดลองถูก ทำให้เกิดขึ้นมาเป็นโอกาสและพัฒนาขึ้นมาเป็นกลยุทธ์ในท้ายที่สุด

            แต่ในการลองผิดลองถูกนั้นไม่ใช่ที่จะได้มาจากคนๆเดียว แต่ต้องเป็นการเปิดโอกาสในการให้พนักงานที่มีความรู้ความสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการต่างๆของบริษัท เพราะสิ่งนี้จะทำให้พนักงานรู้สึกถึงการมีส่วนได้ส่วนเสียต่อบริษัท และสิ่งที่จำเป็นอีกอย่างคือ การที่บริษัทต้องมีการสร้างสิ่งแวดล้อม ที่เอื้ออำนวยต่อการทำให้เกิดโอกาสด้วยเช่นเดียวกัน

7.มีผู้บริหารที่ศรัทธาต่ออุดมการณ์ของบริษัท

            ผู้บริหารถือได้ว่าเป็นบุคคลที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการที่จะชี้นำถึงทิศทางที่บริษัทจะก้าวต่อไป เพราะผู้นำเหล่านี้จะเป็นผู้ที่สร้างผลกระทบสำคัญในด้านต่างๆต่อบริษัท โดยปกติของบริษัททั่วไปนั้นการได้มาซึ่งผู้บริหารจะมี 2 ทางเลือก คือ 1. การคัดเลือกจากคนใน 2. การคัดเลือกจากคนนอก ซึ่งผู้บริหารที่ได้มานั้นอาจนำบริษัทไปสู่ความสำเร็จหรือหายนะก็ได้

            วิธีการได้มาซึ่งผู้บริการของบริษัทแห่งวิสัยทัศน์นั้นก็คงเหมือนกับบริษัททั่วไป แต่การที่คงไว้ซึ่งอุดมการณ์ที่มั่นคงนั้น การได้มาซึ่งผู้บริหารจากภายนอกนั้นมักจะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลง แต่การที่ผลักดันคนในเพื่อให้สามารถก้าวเข้ามาถึงจุดสูงสุดนั้น จะทำให้องค์การได้ผู้บริหารที่เข้าใจถึงอุดมการณ์ของบริษัทได้อย่างลึกซึ้งมากกว่า หรือถ้าจำเป็นที่ต้องคัดเลือกจากคนภายนอก อย่างน้อยบุคคลนั้นต้องเป็นผู้ที่สามารถศรัทธาต่ออุดมการณ์ของบริษัทได้

8.การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

            บริษัทแห่งวิสัยทัศน์มักจะมองสถานการณของบริษัทว่า จะสามารถทำได้ดีในวันพรุ่งนี้ได้อย่างไร การทำงานให้มีประสิทธิภาพเพิ่มให้สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ถือเป็นกระบวนการที่ไม่มีวันสิ้นสุด บริษัทต้องทำการลงทุนต่อไปในอนาคตอย่างต่อเนื่อง

            การพัฒนาอย่างต่อเนื่องถือเป็นหลักที่สำคัญ เพราะเป็นสิ่งที่จะทำให้บริษัทสามารถก้าวต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ซึ่งการพัฒนาอย่างต่อเนื่องนั้นไม่ใช่แค่เน้นไปที่กระบวนการเท่านั้น แต่จะต้องมีการพัฒนาตนเองควบคู่ไปด้วย ซึ่งในที่นี้ก็เช่น การพัฒนาให้พนักงานยอมรับการเปลี่ยนแปลงและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆได้

            บริษัทต้องสร้างความกระตือรือร้นแก่พนักงานอยู่เสมอ โดยไม่คิดพอใจกับผลงานของตัวเองว่าดีแล้ว นอกจากนั้นก็ต้องมีการวางแผนการลงทุนในด้านต่างๆในอนาคต เช่น การจัดหารที่ดิน อุปกรณ์เครื่องมือ หรือเทคโนโลยีต่างๆ โดยไม่ต้องรอให้เกิดความเปลี่ยนแปลงก่อนแล้วจึงค่อยปรับตาม

9.การให้ความสำคัญในด้านบุคลากรและสินค้าที่มีคุณภาพ

            ในปัจจุบันได้มีหลายบริษัทได้เสียทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายไปกับการทำให้องค์การมีภาพลักษณ์ที่สวยหรู ทั้งในด้านของ วิสัยทัศน์ ภารกิจ วัตถุประสงค์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้เสมอว่าบริษัทนั้นๆจะต้องประสบความสำเร็จ แต่วัตถุประสงค์หลักที่สำคัญ คือ การสร้างความกลมกลืนระหว่างการปฏิบัติการควบคู่ไปกับอุดมการณ์หลักและเป้าหมายของบริษัท

            สิ่งที่สำคัญ คือ การให้ความสำคัญในด้านบุคลากรและสินค้าที่มีคุณภาพ ถือเป็นคุณค่าหลักที่ต้องคำนึงถึงก่อนผลกำไร และที่สำคัญที่สุดคือ การที่พนักงานได้มีส่วนร่วมในการปฏิบัติการต่างๆจนทำให้ลูกค้าเกิดความพอใจ

            ตัวชี้นำในการเริ่มเขียนแผนงานของบริษัท

  • การวางแผนภาพรวม โดยการประมวลภาพรวมทั้งหมด

  • ให้รายละเอียดเกี่ยวกับงานมากที่สุด

  • การรวมกัน ไม่แยกกัน เพื่อเป็นการเสริมสร้างพลังระหว่างพนักงานและผู้บริหารเข้าด้วยกัน

  • การว่ายตามหนทางที่คุณต้องการ แม้ต้องว่ายทวนกระแสก็ตาม คือการต้องมีหลักที่ใช้ยึดมั่น มากกว่าการไหลตามกระแส

  • ทำลายความไม่สมดุล โดยการตรวจดูระบบต่างๆว่ามีความสมดุลหรือไม่

  • การรักษาอุดมการณ์หลักไว้ ในขณะที่หาแนวทางใหม่อยู่เสมอ

10.ยึดมั่นอุดมการณ์หลักที่ชัดเจน

            การทำให้บริษัททั่วไปกลายเป็นบริษัทแห่ง วิสัยทัศน์ ได้นั้น ต้องเริ่มต้นด้วยการคงอุดมการณ์หลักให้ชัดเจน  แต่ถ้าอุดมการณ์ที่กำหนดไว้ไม้สามารถทนต่อการท้าทายหรือการเปลี่ยนแปลงได้ อุดมการณ์หลักนั้นก็ไม่ควรที่จะคงเอาไว้  สิ่งที่ต้องจำไว้ คือ อุดมการณ์หลักนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรเปลี่ยนแปลง แต่วิธีกรต่างๆนั้นสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้เพื่อไม่ให้ขัดกับอุดมการณ์หลักของบริษัท

            สิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือ การคงไว้ซึ่งอุดมการณ์หลักและกลไกการกระตุ้นความก้าวหน้า ซึ่งครอบคลุมไปยังทุกกระบวนการ เหล่านี้จะเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดสำหรับองค์กรในศตวรรษที่ 21 เช่น การมีขั้นตอนที่น้อยลง  การกระจายอำนาจมากขึ้น การมีอิสระในการทำงานมากขึ้น

เราสามารถนำบทความจากหนังสือ Built to Last มาปรับใช้เพื่อเป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการทั่วไปได้ดังนี้

  • ส่งเสริมให้ความรู้ การอบรม การสัมมนา การศึกษาต่อ ฯลฯ เพื่อเป็นการทำให้บุคลากรในองค์การมีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น และเกิดความคิดริเริ่มใหม่ๆที่สามารถนำมาใช้และปรับปรุงการปฏิบัติงานให้ดียิ่งขึ้น

  • สนับสนุนให้พนักงานมีความอิสระในด้านการคิด ค้นคว้าทดลอง เพื่อเป็นการปรับปรุงและสร้างผลิตใหม่ออกมาสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง

  • ยึดหลักการมีส่วนร่วมของพนักงานทุกระดับ การสร้างความเป็นประชาธิปไตย ให้เกิดขึ้นในหน่วยงาน อีกทั้งสร้างความผูกพัน ความเป็นน้ำหนึ่งเดียวกันขึ้น เหล่านี้จะช่วยแต่ละหน่วยงานและพนักงานทุกคน เกิดการทำงานเป็นทีมเพื่อไปยังภารกิจหลักที่องค์การต้องการบรรลุ

  • ในการบริหารองค์การ นอกจากการจ่ายค่าจ้าง เงินเดือน หรือผลประโยชน์อื่นๆให้แก่พนักงานแล้ว สิ่งหนึ่งที่ผู้บังคับบัญชาควรให้ความสนใจ ก็คือ เรื่องของสุขภาพ ความมั่นคงและความปลอดภัยในการทำงานขึ้น เพราะส่วนนี้ถือเป็นอีกส่วนที่สามารถมารถสร้างแรงจูงใจให้พนักงานเกิดความรู้สึกมั่นคงในการทำงาน ตลอดจนเป็นการสร้างขวัญกำลังใจในการทำงานเป็นอย่างดี

  • องค์การจะสามารถประสบความสำเร็จได้ ถ้ามีการประสานงานหันในทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นหัสใจหลักคือ การทำงานเป็นทีม หัวหน้าฝ่ายหรือผู้จัดการถือเป็นบุคคลสำคัญในการที่นำพนักงานแต่ละคนให้เกิดการทำงานร่วมมือกัน เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลและกระจายข้อมูลอย่างทั่วถึง และพยายามขจัดการทำงานแบบเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนออกไป

  • ระบบการสื่อสารข้อความต่างๆภายในองค์การต้องมีการจัดให้เป็นระบบ ระบบการสื่อสารที่นิยมใช้ในองค์การ คือ การสื่อสารแบบ 2 ทาง ซึ่งการสื่อสารรูปแบบนี้จะต้องเป็นการสื่อสารทั้งในแนวตั้งและแนวนอน นอกจากนั้นระบบข้อมูลต่างๆจะต้องแม่นยำชัดเจนและถูกต้อง

  • การสร้างวัฒนธรรมหลักที่ชัดเจนให้กับองค์การถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากเพราะสิ่งนี้จะช่วยให้บุคลากรทุกคนในองค์การสามารถเกิดความเข้าใจพื้นฐานเหมือนกันทั้งองค์การ และใช้เป็นที่ยึดเหนี่ยวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบันและนำไปปฏิบัติเพื่อให้เกิดการดำเนินการต่างๆไปในทิศทางเดียวกันได้ทั้งองค์การ

  • เป้าหมายขององค์การ , นโยบาย หรือแผนการต่างๆนั้นต้องมีความยืดหยุ่นมากพอที่จะสามารถปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ได้ แต่ก็ต้องมีคุณค่าหลักที่สามารถตั้งไว้เพื่อเป็นแนวทางยึดเหนี่ยวขององค์การได้

  • การวางแผนงานเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในทุกส่วนขององค์การถือเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะสิ่งนี้จะทำให้องค์การสามารถคงไว้ซึ่งความได้เปรียบในการแข่งขันในอุตสาหกรรมได้

  • ผู้จัดการฝ่ายต่างๆควรสนับสนุนและเปิดโอกาสให้พนักงานในการทำงานสามารถทำงานได้อย่างอิสระในขอบเขตที่กำหนดเอาไว้ อีกทั้งการสนับสนุนในด้านการจัดหารสิ่งอำนวยความสะดวกหรือการนำเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาปรับใช้ในองค์การ เพราะเหล่านี้นอกจากทำให้พนักงานสามารถดึงเอาความคิดสร้างสรรค์ต่างๆมาประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยีได้อย่างเต็มที่ ซึ่งนอกจากนั้นถ้าเป็นการมองในระยะยาวแม้ว่าจะต้องลงทุนมากในช่วงแรก แต่มองในระยะยาวน่าจะทำให้องค์การสร้างความได้เปรียบจากการแข่งขันได้ เช่น ต้นทุนที่ลดลง

เราสามารถนำบทความจากหนังสือ Built to Last มาปรับใช้เพื่อเป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลได้ดังนี้

            การวางแผนการจัดการทรัพยากรบุคคลถือเป็นแผนงานที่ต้องทำด้วยความรอบคอบ เพราะ”คน” ถือเป็นหัวใจหลักที่ช่วยขับเคลื่อนให้องค์การสามารถบรรลุถึงเป้าหมายที่องค์การวางไว้ได้ ดังนั้นการดึงเอาความรู้ความสามารถและทักษะอื่นๆที่บุคลากรขององค์การมีมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่

            นอกจากนั้นก็ต้องมีการจัดการฝึกอบรมในด้านต่างๆเพิ่มเติม เช่น การหมุนเวียนแผนก, การดูงานนอกสถานที่ทั้งภายในและต่างประเทศ ก็ถือเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะช่วยเปิดโลกทัศน์และทำให้พนักงานเกิดศักยภาพขึ้นได้ นอกจากนั้นการปลูกฝังทัศนคติเพื่อเป็นพื้นฐานให้บุคลากรทุกคนในองค์การรู้ถึงแนวทางหลักที่จะใช้ในการปฏิบัติงานและที่สำคัญที่สุด คือการวางแผนในเรื่องของกำลังคน หรือแผนงานพัฒนาบุคลากรต่างๆนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ขององค์การ จากแนวทางในหนังสือ Built to Last เราสามารถนำมาปรับใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการบริหารทรัพยากรมนุษย์ได้ดังนี้

  • การกำหนดแผนงานปฐมนิเทศแก่พนักงานใหม่ ถือเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากสำหรับแผนกบุคคล เพราะถือเป็นขั้นต้นในการที่จะบอกถึงทัศนคติและแนวทางหลักที่องค์การมีเพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการยึดถือและปฏิบัติงานต่อไปในอนาคต

  • การวางแผนเพื่อให้เกิดการพัฒนาบุคลากรในองค์การอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านงานในแต่ละตำแหน่งเพื่อให้เกิดทักษะและความรู้ความสามารถที่เฉพาะอย่างสำหรับงานนั้น และการฝึกอบรมในด้านต่างรวมถึงการหมุนเวียนงานเพื่อให้เกิดความรู้และทักษะพิเศษอื่นขึ้น ซึ่งนี่ถือเป็นการสร้างความพร้อมให้พนักงานสามารถที่จะปรับตัวรับแนวทางใหม่ๆและสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วของโลกปัจจุบันได้

  • ค่าตอบแทนต่างจะต้องมีการวางให้เหมาะสมกับตำแหน่งและลักษณะของงาน โดยพื้นฐานจะต้องให้พนักงานสามารถอยู่รอดได้เมื่อเทียบกับค่าครองชีพ นอกจากนั้นควรให้ความใส่ใจในด้านผลประโยชน์ที่พนักงานจะรับ รวมทั้งในเรื่องของการให้รางวัล เหล่านี้เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจและความภักดี

  • ถ้าองค์การมีแนวทางของวัฒนธรรมหรือทัศนคติที่ค่อนข้างแข็งแล้ว การกำหนดแนวทางเพื่อสรรหารบุคลากรต้องทำด้วยความรอบคอบ ซึ่งในที่นี้นอกจากคุณสมบัติหลักสำหรับตำแหน่งนั้นแล้ว การสำรวจถึงทัศนคติของบุคคลนั้นถือเป็นอีกเรื่องที่ต้องใส่ใจ แม้ว่าจะจะเป็นสิ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยการฝึกอบรมเพื่อปลูกฝังทัศนคติ แต่ในบางกรณีโดยเฉพาะกับผู้ที่มีประสบการณ์มากนั้น มักจะไม่ค่อยปรับเปลี่ยนทัศนคติหรือรับแนวคิดใหม่เท่าไรนักเมื่อเทียบกับคนรุ่นใหม่

  • การพิจารณาในการเลื่อนตำแหน่ง ทางฝ่ายทรัพยากรบุคคลควรเปิดโอกาสให้กับพนักงานภายในทุกคนได้มีโอกาสก่อน เพราะว่าบุคลากรเหล่านี้มีพื้นฐานความเข้าใจในการดำเนินงาน อีกทั้งทัศนคติหลักขององค์การเป็นอย่างดีแล้ว แต่ในกรณีที่จะต้องทำการคัดเลือกจากบุคลากรภายนอก อย่างน้อยบุคคลนั้นก็ควรที่จะสามารถยอมรับสิ่งใหม่และแนวคิดใหม่ๆได้

  • ฝ่ายบุคคลจำเป็นที่ต้องเน้นการฝึกอบรมเพื่อให้เกิดการทำงานเป็นทีมมากขึ้น เพราะในปัจจุบันรูปแบบองค์การที่เปลี่ยนไปอย่างมาก การทำงานในทุกด้านมีลักษณะเป็นโครงการมากขึ้น ทำให้พนักงานในหน่วยงานนั้นๆต้องเกิดการทำงานร่วมกัน หรือแม้แต่ต้องทำงานข้ามแผนก และนอกจากนั้นการทำการฝึกอบรมเพื่อเป็นการละลายพฤติกรรมก็เป็นสิ่งที่ควรนำมาใช้เพราะจะทำให้บุคคลากรในองค์การเข้าใจซึ่งความแตกต่างของกันและกันและเกิดการยอมรับซึ่งกันได้

  • การสนับสนุนให้เกิดการสื่อสารกันระหว่างบุคลากรภายในองค์การ ไม่ว่าจะเป็นในระดับขั้นเดียวกัน หรือต่างระดับ ทางแผนกทรัพยากรบุคคล ต้องเป็นตัวกลางในการที่จะประสานงานเพื่อให้เกิดการพบปะนี้ขึ้น อาจโดยมีการกำหนดกิจกรรมต่างๆขึ้นมาเพื่อใช้เป็นตัวเชื่อมสัมพันธ์ หรืออาจมีการจัดสถานที่และกำหนดวันเวลา เพื่อให้พนักงานได้มีการพบปะเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันขึ้น

  • แผนกทรัพยากรบุคคลนอกจากจะเป็นผู้จัดการวางแผนงานต่างๆแล้ว การให้คำปรึกษาแก่พนักงานก็ถือเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะในที่นี้ก็ถือเป็นแนวทางที่สามารถสร้างขวัญกำลังใจให้แก่พนักงานในองค์การได้อีกทางหนึ่ง

  • สิ่งที่จำเป็นอีกอย่างหนึ่งคือการทำแผนการสำรวจความคิดเห็นของพนักงาน เพราะข้อมูลเหล่านี้อาจเป็นสิ่งเล็กน้อยที่องค์การอาจมองข้ามไป ซึ่งในที่นี้ก็จะสามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้เพื่อเป็นประโยชน์ในการปรับปรุงในด้านต่างๆ และนอกจากนั้นก็คือการทำแบบเพื่อประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงาน อาจเป็นทั้งแผนก และเป็นแบบเฉพาะบุคคล ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะทำให้เราทราบถึงศักยภาพของพนักงานในองค์การ และเป็นข้อมูลในการจัดการฝึกอบรมทักษะที่ขาดไปเพิ่มเติม

บทความที่น่าสนใจ การวางแผนกลยุทธ์ ทางการตลาดเพื่อสร้างการเจริญเติบโตของบริษัทและมีกำไร

คลิปเครื่องหยอดเหรียญ ลงทุนหลักหมื่น กำไรเป็นแสน https://www.youtube.com/watch?v=-evN8YoIS8E&t=209s

You may also like...

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *