ผู้นำที่ดี ต้องมีบารมี มีพลังศรัทธา และรู้จริงในสิ่งที่ต้องทำ

              ในช่วงหนึ่งของชีวิตทุกๆ คน ย่อมได้โอกาสเป็นผู้นำสำคัญๆ เช่น การเป็นพ่อบ้าน แม่บ้าน หัวหน้าห้อง หรือจะมีบทบทผู้นำในหน้าที่การงานเช่น หัวหน้างาน หัวหน้าทีม เป็นต้น แต่ใครจะรู้ได้ว่า ภาระหน้าของความเป็นผู้นำนั้น คุณสามารถทำมันได้ดีมากน้อยเพียงใด เป็น ผู้นำที่ดี แล้วใช่หรือไม่  แล้วผู้นำที่ดีอย่างเราจะทำหน้าที่สำคัญๆ เหล่านนั้นจนประสบความสำเร็จได้อย่างไร ถึงจะได้รับการยอมรับ และเป็นที่เคารพรักของลูกน้องหรือผู้ตาม เป็นผู้นำที่มีบารมี เป็นผู้นำในดวงใจ ผู้นำที่ดี

ผู้นำที่ดี

ผู้นำที่ดี

           ในชีวิตจริงไม่ผู้นำคนใด ทำหน้าที่ของผู้นำจนประสบความสำเร็จได้ตั้งแต่เริ่มต้น เพราะการเป็นผู้นำที่ดี นอกจากการอาศัยพลังแห่งความเชื่อมั่นและความศรัทธาในตนเองแล้ว ยังต้องสามารถนำหลักทฤษฎีต่างๆ ไปลงมือปฏิบัติจริง เป็นผู้นำต้องผ่านแบบทดสอบที่ได้จากการฝึกฝน มีการเรียนรู้ มีคุณสบัติ มีภาวะผู้นำ จากการพัฒนาปรับปรุงพฤติกรรมทักษะต่างๆให้ดีมากยิ่งขึ้นนั้นเอง

                Peter Drucker กูรูทางด้านการจัดการระดับโลกได้ กล่าวไว้ว่า ผู้นำที่ดี คือ คนที่มีลักษณะมีความคิดเชิงระบบ มีบุคลิกภาพชั้นเยี่ยม มีทักษะและความสามารถในการทำงานที่ฉลาดหลักแหลม ซึ่งต้องเป็นคนที่มีความรู้หลากหลายด้าน โดยท่านได้มอบแนวทางการปฏิบัติสำหรับ ผู้นำที่ดี ไว้ทั้งหมด 8 เรื่องด้วยกัน

 

                1.ต้องรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่จะต้องทำ  ปีเตอร์ ดรักเกอร์ กล่าวไว้ว่า “ไม่มีผู้นำท่านใดที่ทำเรื่องสำคัญและเร่งด่วน ได้มากกว่า 2 เรื่องพร้อมๆกันได้ เพราะผู้นำจะสามารถจัดลำดับความสำคัญของงานใหม่ หลังจากที่งานแรกสำเร็จแล้วเสมอ” ผู้นำจะต้องรู้ว่าอะไรคือสิ่งสำคัญ และอะไรคือเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องทำเป็นอันดับแรก  ผู้นำที่ดีจะต้องสามารถเรียงลำดับความสำคัญของงานได้ ด้วยการค้นหาประเด็น ว่างานใดคือสิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องลงมือทำเองจริงๆ และอะไรคืองานที่สามารถมอบหมายให้คนอื่นทำแทนได้ เพราะงานของผู้นำ มักจะมีความหลากหลายที่ต้องลงมือทำเอง

             2. ต้องรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกต้องและเป็นเป้าหมายองค์กร  ผู้นำที่ดี มักจะคิดถึงผลลัพธ์ ในการทำสิ่งต่างๆอยู่เสมอว่า จะได้รับอะไรบ้าง เมื่อลงมือทำงานนั้นๆจนแล้วเสร็จ โดยไม่ได้สนใจว่า จะมีอะไรเกิดเล็กๆน้อยๆในระหว่างทางที่ลงมือทำ เพราะผู้นำจะไม่ได้ให้ความสำคัญเพียงแค่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่ผู้นำจะต้องมองภาพรวมทั้งหมดว่า  อะไรคือความเสี่ยงที่อาจจะมีผลกระทบต่อความสำเร็จขององค์กรและอะไรคือผลกระทบต่อเป้าหมายองค์กร ผู้นำที่ดีมักจะวางแผนได้จากการคาดการณ์ล่วงหน้า ซึ่งจะต้องมีแผนสำรองไว้เสมอ หากรู้ว่าสิ่งที่ทำอาจจะเบี่ยงเบนไปจากของเป้าหมายองค์กร

            3. ต้องมีการพัฒนาแผนงาน  ผู้นำที่ดี ต้องมีแผนปฏิบัติงาน เพราะแผนงานที่ดี จะสามารถนำไปปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จได้ง่าย ผู้นำที่ดีต้องมีทักษะการประยุกต์ใช้ความรู้ ไปสู่ภาคปฏิบัติได้เป็นอย่างดี การเขียนแผนที่ดี ผู้นำจะรู้ว่า ต้องทำสิ่งใด ทำอย่างไร ทำเมื่อไหร่ และต้องทำให้อะไรเกิดขึ้นบ้างในอนาคต แผนงานต้องสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ และสิ่งสำคัญแผนงานต้องสามารถชี้ชัดได้ว่า ทุกกิจกรรมหากทำจนสำเร็จแล้วจะต้องได้อะไรบ้าง ใครเป็นคนรับผิดชอบ เมื่อไหร่จะแล้วเสร็จ และต้องมีการติดตามความคืบหน้าของแผนงาน มีการประเมินผล ทบทวนการดำเนินงานเป็นระยะๆจนกว่าจะจบกิจกรรม

         4. มีรับผิดชอบต่อสิ่งที่ได้ตัดสินใจ  การตัตสินใจที่ดีจะต้องทำให้เห็นถึงความชัดเจนดังนี้ 1) กำหนดชื่อคนที่รับผิดชอบและกำหนดช่วงเวลาการนำไปปฏิบัติ  2) ต้องมีการระบุชื่อคนที่ได้รับผลกระทบ เพื่อจะได้มีสื่อสารให้เขา ได้รับทราบและจะได้ไม่เกิดการต่อต้านในแต่ละการตัดสินใจ 3) ต้องรู้ว่าใครบ้างที่เกี่ยวข้องและต้องสื่อสารให้ทราบ   คนทั่วไปโดยส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยกล้าตัดสินใจ เพราะกลัวว่าจะมีผลลัพธ์ที่ไม่ดี ที่อาจจะเกิดขึ้นภายหลังของตัดสินใจในครั้งนั้น ดังนั้นผู้นำที่ดีจะต้องหัดตัดสินใจบ่อยๆ เพราะถึงแม้ว่า ผลของตัดสินใจของครั้งนั้น จะไม่ประสบความสำเร็จได้ก็ตาม และถึงแม้ว่าคุณจะถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้ที่ทำให้เกิดความล้มเหลว เพราะการตัดสินใจที่ผิดพลาดของคุณ แต่มันจะทำให้คุณได้เรียนรู้และสะสมประสบการณ์เพิ่มมากขึ้น เมื่อมีเหตุการณ์ที่มีลักษณะคล้ายรูปแบบเดิมเกิดขึ้นซ้ำ มักจะทำให้การตัดสินใจของคุณทำได้อย่างถูกต้อง รวดเร็วและแม่นยำมากยิ่งขึ้น

5. มีรับผิดชอบต่อสิ่งที่สื่อสารออกไป ผู้นำที่ดีต้องสามารถสื่อสารแผนงานและข้อมูลที่สำคัญให้ผู้ตามได้รับรู้และเข้าใจ และต้องเปิดโอกาสให้ลูกน้องหรือเพื่อนร่วมงานสามารถแสดงความคิดเห็นได้  หากมัวแต่คิดว่าการตัดสินใจของตนเองต้องดีที่สุด คุณจะไม่ได้รับโอกาสเรียนรู้จากความเห็นต่าง ซึ่งเป็นสิ่งดีๆและเป็นวิธีการที่ดีกว่า รวมทั้งข้อเสนอดีๆที่จะได้รับจากการร่วมกันคิดและสามารถทำให้ทีมได้แนวทางที่ง่ายกว่า  ไปสู่ความสำเร็จได้ตามเป้าหมาย เพราะไม่มีใครเก่งทุกเรื่อง แต่ทุกๆเรื่องที่จะลงมือทำ ผู้นำที่ดี มีหน้าที่ในการโน้มน้าวคนเก่งในเรื่องนั้นให้เป็นคนลงมือทำ

6. ต้องมุ่งเน้นและให้ความสำคัญต่อโอกาสมากกว่าปัญหา  แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นจะต้องได้รับการแก้ไขเช่นกัน เพียงแต่ต้องให้ความสำคัญกับโอกาส ที่จะทำให้เป้าหมายขององค์กรสำเร็จ  ได้รับการพิจารณาก่อน โดยการมุ่งเน้นให้องค์กรเกิดการพัฒนา ทำให้คนในองค์กรเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ มีคิดสร้างสรรค์และมีส่วนร่วมในการนำเสนอวิธีการที่ดี มีการแลกเปลี่ยนความคิดจนเกิดความรู้ใหม่ๆที่มีประโยชน์ต่อองค์กร จะช่วยทำให้องค์กรเจริญก้าวหน้า มีต้นทุนที่สามารถแข่งขันกับคนอื่นได้

7. ต้องเป็นผู้นำการประชุมที่มีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล เพราะเวลาของผู้นำโดยส่วนใหญ่จะหมดไปกับการประชุม  การประชุมที่มีประสิทธิภาพ จะทำให้ผู้นำมีเวลาไปสร้างสรรค์สิ่งต่างๆได้ ดังนั้นผู้นำต้องเตรียมการประชุมมีการทำการบ้าน ค้นหาความรู้และข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาอย่างละเอียด และที่สำคัญในขณะที่ทำการประชุม จะต้องกำหนดกฎเกณฑ์ในการประชุม การวางตัว จัดลำดับ บอกวัตถุประสงค์แต่ละการประชุมให้ชัดเจน การประชุมจะต้องหาข้อสรุปให้ได้ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง ทำเมื่อไร ทำโดยใคร จะแล้วเสร็จเมื่อไหร่ และสิ่งสำคัญคือต้องติดตามงานหลังการประชุมทุกครั้ง

8.มีความสามารถในการสร้างทีม ผู้นำที่ดีต้องใช้ความรู้ที่มี ตอบสนองต่อความต้องการของคนทั้งองค์กร มากกว่าการตอบสนองของตนเอง การมองไปที่ผลลัพธ์ที่เกิดจากการทำงานเป็นทีม จะทำให้เกิดความละเอียดรอบคอบ เมื่อต้องต่อสู้กับอุปสรรคที่เกิดขึ้นแล้วสามารถนำทีมไปพบกับผลลัพธ์ของคำว่า ความสำเร็จ การเป็นผู้นำที่ดีต้องสามารถวางแผนอนาคตของลูกทีมได้ จะต้องวางแผนให้พวกเขาเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานที่ลูกน้องรับผิดชอบ ต้องเตรียมความพร้อมคุณสมบัติด้านต่างๆให้กับพวกเขาที่จะก้าวสู่ลำดับถัดไป

              การเป็น ผู้นำที่ดี คือผู้นำที่มีภาวะความเป็นผู้นำ สามารถสร้างความเชื่อมั่นและสร้างความศรัทธาให้กับลูกน้องได้ เป็นที่เคารพ เป็นบุคคลที่ควรบูชา เป็นคนที่ลูกน้องควรนอบน้อมให้  ในทางตรงข้ามหากผู้นำเป็นเพียงแค่หัวหน้า มีอำนาจได้เพราะการแต่งตั้ง ก็จะกลายเป็นหัวหน้าที่ขาดคุณสมบัติของการเป็นผู้นำ ขาดความน่าเชื่อถือ ไม่สามารถปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีต่อลูกน้องได้ มักจะเป็นผู้นำที่ไร้ซึ่งอำนาจบารมี

            การเปลี่ยนแปลงที่ดีย่อมทำให้องค์กรเกิดการพัฒนา ซึ่งพัฒนาจะต้องอาศัยคน อาศัยผู้นำ คนนับได้ว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนระบบต่างๆ ขององค์กร  หากผู้นำในองค์กรดี  มีคุณภาพ  ทำให้คนในองค์กรสามารถปรับปรุงตนเองให้กลายเป็นคนที่มีทักษะสูงขึ้น  มีความฉลาด  มีการพัฒนาและมีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง องค์กรนั้นก็จะสามารถสร้างกำไรได้อย่างต่อเนื่อง มีความมั่นคง แต่หากองค์กรใด ขาดผู้นำที่ไร้ซึ่งคุณสมบัติของความเป็นผู้นำ ขาดจริยธรรม ขาดคุณธรรม เกิดการคตโกง เกิดการแย่งชิงผลประโยชน์ขององค์กรมาเป็นผลประโยชน์ของตนเอง ในที่สุดแล้วองค์กรนั้นอาจล่มสลายก็เป็นได้

           ผู้นำที่ดี จะขาดคุณสมบัติคำว่าจริยธรรมของการเป็นผู้ปกครองไม่ได้ ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ท่านทรงตรัสเอาไว้ ซึ่งเรียกว่าทศพิธราชธรรม ผู้นำท่านใดสามารถนำหลักจริยธรรมขั้นสูงนี้ ไปประยุกต์ใช้กับการปกครองลูกน้อง ก็จะทำให้ตนเองประสบความสำเร็จในการเป็นผู้นำและองค์กรก็จะเจริญก้าวหน้า

          ผู้นำจักต้องมีจริยธรรมสูง ≈ ทศพิธราชธรรม

1) ทาน การให้ คือ สละทรัพย์สิ่งของ บำรุงเลี้ยงช่วยเหลือพนักงาน และบำเพ็ญสาธารณประโยชน์

2) ศีลความประพฤติดีงาม คือ สำรวมกายและวจีทวาร ประพฤติปฏิบัติแต่การสุจริต รักษากิตติคุณ ทำเป็นตัวอย่าง และทำให้เป็นที่เคารพนับถือของ พนักงาน มิให้มีข้อครหาที่ใครจะดูแคลนได้

3) ปริจจาคะ การบริจาค คือ ควรเสียสละความสุขสำราญต่อชีวิตของตน  เพื่อประโยชน์สุขของพนักงาน และสร้างความสงบเรียบร้อยในองค์กร

4) อาชวะ  ความซื่อตรง คือ ซื่อตรง ทรงสัตย์  ไร้มารยา ปฏิบัติภารกิจโดยสุจริต มีความจริงใจ ไม่หลอกลวงพนักงาน หรือเพื่อนร่วมงานในองค์กร

5) มัททวะ ความอ่อนโยน คือ มีอัธยาศัยไมตรี ไม่เย่อหยิ่งถือตัว ไม่พูดจาหยาบคายหรือกระด้าง มีความงามสง่า ทำตัวมีท่วงทีกิริยาสุภาพนุ่มนวล ละมุนละไม เพื่อให้ได้ความรักภักดี โดยมิขาดยำเกรง

6) ตบะ ได้แก่ความข่มใจ หมายถึง ความทรงเดช คือ แผดเผากิเลสตัณหา มิให้เข้าครอบงำย่ำยีจิต ระงับยับยั้งข่มใจได้ ไม่ยอมให้หลงใหล หมกมุ่นในความสุขสำราญและการปรนเปรอ มีความเป็นอยู่สม่ำเสมออย่างสามัญ  มุ่งมั่นแต่จะบำเพ็ญเพียรทำกิจให้สมบูรณ์

7) อักโกธะ ความไม่โกรธ คือ ไม่เกรี้ยวกราด ลุอำนาจ  เพราะความโกรธจนเป็นเหตุให้เกิดวินิจฉัยความและกระทำการต่าง ๆ ที่ผิดพลาด เสียธรรม สร้างความมีเมตตาประจำใจ เพื่อไว้ระงับความเคืองขุ่น ต้องวินิจฉัยความและกระทำการด้วยจิตอันราบเรียบและเป็นตัวของตนเอง

8) อวิหิงสา ความไม่เบียดเบียน คือ ไม่บีบคั้น กดขี่ ในการทำงานที่เกินควร ไม่หลงระเริงอำนาจ ขาดความกรุณา หาเหตุเบียดเบียนลงโทษอาชญาแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา

9) ขันติ ความอดทน คือ อดทนต่องานที่ต้องตรากตรำ ถึงแม้ว่าจะลำบากกายเหนื่อยหน่ายแค่ไหนก็ไม่ควรท้อถอย ถึงจะถูกยั่วถูกหยันด้วยคำเสียดสีถากถางอย่างใด ก็ไม่ควรหมดกำลังใจและไม่ยอมละทิ้งงานที่ทำโดยชอบธรรม

10) อวิโรธนะ ความไม่คลาดธรรม (ความหนักแน่นยึดมั่นในธรรมะ) กล่าวคือ วางตนเป็นหลักหนักแน่นในธรรม คงที่ไม่มีความเอนเอียงหวั่นไหว เพราะถ้อยคำที่ดีร้าย ลาภสักการะหรืออิฏฐารมณ์ (สิ่งน่าชอบใจ) และอนิฏฐารมณ์ (สิ่งที่ไม่น่าชอบใจ) ใด ๆ ตั้งมั่นในธรรมทั้งในส่วนยุติธรรม คือ ความเที่ยงธรรมก็ดี นิติธรรม คือ ระเบียบแบบแผนหลักการปกครอง ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามก็ดี ไม่ประพฤติตนให้เคลื่อนคลาดวิบัติไป

           การจะรู้ว่าตัวเองเป็นผู้นำที่ดี หรือเป็นผู้นำที่แย่ มีตัวชี้วัดความสำเร็จของการเป็นผู้นำคือ ผู้นำสามารถเข้าไปอยู่ในดวงใจลูกน้องได้กี่คน และมีความสามารถในการสร้างผู้นำที่ดีที่เป็นแทนของตัวเองได้กี่คน

อ่านต่อ ผู้นำหรือภาวะผู้นำ ตอนที่4

You may also like...

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *