ECRS คือตัวย่อ 4 คำ อันได้แก่ E: Eliminate, C:Combine,R:Rearrange ,S:Simplify

ECRS คืออะไร   ECRS คือ ตัวย่อของภาษาอังกฤษ 4 คำ อันได้แก่ E: Eliminate หมายความว่าการกำจัด, C:Combine หมายความว่าการรวมกัน, R:Rearrange หมายความว่าการจัดใหม่, S:Simplify หมายความว่าการทำให้ง่าย

     ECRSเป็นเครื่องมือที่มีหลักคิดง่ายๆ แต่สามารถใช้ได้จริง สำหรับสำหรับทุกๆอาชีพ ไม่ว่าจะเป็น นักออกแบบ วิศวะ ครูอาจารย์ แพทย์ พยาบาล ฯลฯ ก็สามารถประยุกต์ใช้หลัการนี้ เพื่อการปรับปรุงกระบวน การเพิ่มผลผลิต ลดการสูญเสีย (7 Waste: 7การสูญเสีย ซึ่งสรุปในรูปแบบย่อสั้นๆ อันได้แก่ ย้ายบ่อย คอยนาน สต๊อกบาน งานผิด ผลิตเกิน เดิน เอื้อม หัน ขั้นตอนไร้ค่า  หรือนิยามความสูญเสีย  3MU )  และใช้เป็นเครื่องมือการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องด้วยตนเองซึ่งเรียกว่า ไคเซ็น Kaizen Improvement 

     ECRS เป็นเครื่องมือลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ ที่สามารถปรับใช้ได้ทุกๆส่วนงานไม่ว่าจะเป็นภาครัฐบาลหรือเอกชล เพื่อการพัฒนาการผลิต การให้บริการและสร้างความสามารถในการแข่งขัน สิ่งสำคัญคือ การตอบสนองความต้องการและความผึงพอใจของผู้ซื้อสินค้าและผู้รับบริการ

 

ขั้นตอนการใช้หลัก ECRS

หลัก ECRS เป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งที่นิยมนำมาใช้

  1. กระบวนการปรับปรุงหรือการแก้ไขปัญหาทั่วไป ภายหลังจากการรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์สาเหตุของปัญหา แล้วก็ตามด้วยคำถามว่า ใช้ ECRS ได้หรือไม่

  2. กระบวนการปรับปรุงหรือการแก้ไขปัญหาทางวิศวกรรมอุตสาหการ ทำการเขียนแผนผังการไหลของกระบวนการตามสัญลักษณ์ การปฏิบัติงาน การขนส่ง การรอคอย การตรวจสอบ การสต๊อก แล้วก็ตามด้วยคำถามว่า ในแต่ละกระบวนการนั้น สามารถใช้ ECRS ได้หรือไม่

ECRS

– การกำจัด ( Eliminate ) หมายถึง การตัดการขจัดสิ่งต่างๆ ที่ไม่ก่อเกิดประโยชน์ สิ่งที่เป็นการสูญเสีย สิ่งที่ไม่ใช่ความต้องการของลูกค้าที่แท้จริง หรือแม้แต่กิจกรรมและกระบวนการที่ไม่สร้างมูลค่าให้แก่สินค้า  แต่ทั้งนี้แล้วการกำจัดจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของสินค้า กระบวนการ สภาพความจำเป็นพื้นฐานของพนักงาน  หรือกำจัดแล้ว จะต้องไม่เกิดผลกระทบในด้านลบเช่น การเกิดอุบัติเหตุ กระบวนอื่นๆทำงานยากขึ้น หรือไปเกิดความสูญเสียมากขึ้นในกระบวนการถัดไปเป็นต้น  วิธีการในการใช้หลักของการกำจัด ให้เริ่มจากการพิจารณาสิ่งที่สามารถกำจัดได้  จากศึกษาการทำงานในปัจจุบันแล้วทำการกำจัด เช่น การขจัดความสูญเปล่าทั้ง 7 ประการ ของการผลิตนั้นออกไป อันได้แก่ การผลิตมากเกินไป การรอคอย การเคลื่อนที่/เคลื่อนย้ายที่ไม่จำเป็น การทำงานที่ไม่เกิดประโยชน์ การเก็บสินค้าที่มากเกินไป การเคลื่อนย้ายที่ไม่จำเป็น และ ของเสีย

ECRS

– การรวมกัน ( Combine ) หมายถึง การพิจาณาหรือการประเมินสิ่งต่างๆ กระบวนการต่างๆ ที่รวมกันแล้วสามารถลดบางสิ่งบางอย่างลงได้ เช่น เวลาลดลง ค่าใช้จ่ายต่างๆลดลง ของเสียลดลง การใช้พลังงานลดลง สามารถลดความซ้ำซ้อนในการทำงานได้ ลดจำนวนครั้งหรือจำนวนในการตรวจสอบสินค้าได้  เป็นต้น  แต่ก็ต้องไม่มีผลต่อการควบคุมกระบวนการ การควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ระหว่างกระบวนการผลิตและสินค้าสำเร็จรูป  หากเป็นงานด้านการบริการ เมื่อรวมกันแล้วจะต้องไม่ส่งผลต่องานหลักและการบริการเสริมที่ส่งมอบให้ลูกค้า ดังนั้นก่อนที่จะมีการรวมกระบวนการ รวมขั้นตอน ส่วนผสมต่างๆของสินค้าหรืองานบริการต่างๆ ได้  จะต้องรับการพิจารณาถึงปัจจัยที่มีผลกระทบในด้านต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างละเอียดถี่ถ้วน  ซึ่งจะต้องมีการรวมทีมและการประชุมกันโดยผู้เชี่ยวชาญและผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด เพื่อพิจารณาหารือร่วมกันแล้ว จึงวางแผนงานเพื่อนำไปสู่กระบวนการเตรียมความพร้อมและการปฏิบัติการ แล้วจึงลงมือใช้เทคนิคการรวมกัน ( Combine )  ในขั้นตอนถัดไป  โดยระหว่างการประชุมนั้นอาจ จะต้องทำให้ผู้เข้าร่วมเข้าใจและทราบถึงวัตถุประสงค์เป้าหมายหลังจากนั้นอาจจะใช้เทคนิคการระดมสมอง การใช้หลักการ 5 Why  ด้วยการตั้งคำถามว่า ทำไมๆ…. เพื่อพิจารณาว่า ในแต่ละขั้นตอนการผลิตนั้น สามารถรวมขั้นตอนการทำงานได้หรือไม่ เช่น จากเดิมเคยทำ 5 ขั้นตอนก็รวมบางขั้นตอนเข้าด้วยกัน ก็จะสามารถลดการทำงานบางอย่างลงได้ แล้วทำให้การทำงานเร็วขึ้นหรือลดการเคลื่อนที่ระหว่างขั้นตอนลงได้  ในขั้นตอนก่อนที่จะใช้เทคนิคการรวมกันนี้  จะต้องมีการกำหนดเกณฑ์การพิจารณา เช่น ความต้องการของลูก ระยะเวลา จำนวน คุณภาพ Spec. ของสินค้า ปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ข้อจำกัดต่างๆ ยิ่งมีความครบถ้วนของข้อมูลก็มักจะเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ECRS

– การจัดใหม่ ( Rearrange ) หมายถึง การย้าย การเปลี่ยน การสลับขั้นตอนการทำงาน  การจัดลำดับการทำงานหรือลำดับขั้นตอนการประกอบสินค้าต่างๆใหม่  การเปลี่ยนแปลงย่อมมีผลกระทบในด้านต่างๆเกิดขึ้นเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการต่อต้านจากความเคยชินหรือวิธีการปฏิบัติแบบเดิม ดังนั้นการจัดใหม่จะต้องถูกชี้แจงถึงเหตุผล ข้อดี-ข้อเสีย และผลกระทบต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้น ดังนั้นการชี้แจงต้องค้นหามุมมองผลประโยชน์ของผู้ปฏิบัติงานด้วย อาทิเช่น สภาพแวดล้อมดีขึ้น ทำงานง่ายขึ้น ความเมื่อยล้าลดลง เป็นต้น เพื่อลดแรงต่อต้านของผู้ปฏิบัติงานจะไม่ปฏิบัติตามด้วยความเต็มใจ การใช้ R ของECRS ที่ดูเหมือนคิดได้ง่าย แต่ก็ไม่ง่ายเสมอไป

            การจัดใหม่เป็นเทคนิคหรือวิธีคิด ในการลดการสูญเสียการเคลื่อนไหว การเคลื่อนย้าย ลดเวลา ลดการรอคอยหรืออาจช่วยขจัดความซ้ำซ้อนของงานบางอย่าง

ECRS

– การทำให้ง่าย ( Simplify ) หมายถึง ความสะดวกความรวดเร็ว และการทำอะไรที่ง่ายๆ มักมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล มีความแม่นยำ มีความเสถียรภาพมากขึ้น การสูญเสียความผิดพลาดเกิดขึ้นได้น้อยลง เพราะการทำอะไรง่ายๆก็จะสามารถเรียนรู้ได้เร็ว  สามารถลดระยะเวลาในการเพิ่มทักษะและสร้างความชำนาญของผู้ปฏิบัติงานได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ยังส่งผลดีต่อสิ่งที่มองไม่เห็นหรือปัจจัยแฝงอื่นๆ เช่น จำนวนอุบัติเหตุลดลง พนักงานมีขวัญกำลังใจดีขึ้น มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยมากยิ่งขึ้น เทคนิควิธีคิดเพื่อค้นหาวิธี การทำให้ง่าย ( Simplify ) ต้องอาศัยการคิดนอกกรอบ คิดสร้างสรรค์และการประยุกต์ใช้จากประสบการณ์การศึกษาดูงานจากที่อื่นแล้วนำเอาวิธีการต่างๆเหล่านั้น มาปรับใช้กับงานของตนเอง เช่น การหาอุปกรณ์สนับสนุนการทำงานเช่น การใช้ จิ๊ก ( Jig) หรือ ฟิ๊กเจอร์ Fixture  ช่วยในการประกอบ ทำงานจะสะดวกและแม่นยำมากขึ้น สามารถลดของเสียลงได้ หรืออาจจะสามารถลดการเคลื่อนที่ที่ไม่จำเป็น ลงได้ หรืออาจจะใช้ KARAKURI  KAIZEN ด้วยการใช้กฎทางฟิสิกส์ คานงัด เป็นต้น

ตัวอย่างวิธีประยุกต์ใช้หลัก ECRS

การกำจัด ( Eliminate ) 

ECRS

            กรณีศึกษาที่  1   ในอดีตการผลิตน้ำดื่มหรือเครื่องดื่มต่างๆ บนฝาขวดจะมีการหุ้มพลาสติก Cap seal เพื่อยืนยันถึงคุณภาพว่า ขวดจะไม่ถูกเปิดก่อนถึงมือผู้บริโภค แต่อันที่จริงแล้วฝาขวดจะมีชุดล็อคของฝา ที่ผู้บริโภคสามารถสังเกต ขวดเครื่องดื่มที่ไม่ผ่านการเปิดฝาได้จาก ส่วนล็อคฝาและฝาต้องไม่ขาดออกจากกัน หากขวดถูกเปิดฝาส่วนล็อคฝาก็จะยังคงติดกับตัวขวด ดังนั้นการหุ้มพลาสติกนอกจากสิ้นเปลืองแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมการสูญเสียในด้านอื่นๆอีกมากมาย

ECRS

            กรณีศึกษาที่ 2   ปั้มน้ำมันยอดเหรียญ ก็เป็นอีก 1 ตัวอย่างที่สามารถกำจัดแรงงาน ที่ปั้มทั่วๆไปต้องมีพนักงาน เพื่อเติมน้ำมันให้ลูกค้า

 

ตัวอย่างวิธีประยุกต์ใช้หลักECRS

การรวมกัน ( Combine )

ECRS

            กรณีศึกษาที่  1 ในโรงพยาบาล ในขณะที่คนไข้ จะได้พบแพทย์ก็ต้องผ่านกระบวนการตรวจสุขภาพ เบื้องต้น ซึ่งในอดีตที่เครื่องมือวัดแรงดันและการวัดอัตราการเต้นของหัวใจหรือชีพจรจะแยกออกจากกัน ซึ่งบางโรงพยาบาลไม่มีเครื่องวัดชีพจร หลังจากวัดแรงดันแล้ว พยาบาลก็จะจับข้อมือของคนไข้เพื่อ นับการเต้นของหัวใจเทียบกับเวลา 1 นาทีว่า หัวใจเต้นกี่ครั้ง   แต่ในปัจจุบันนี้เครื่องมือวัดชนิดนี้ สามารถรวม การวัดค่าแรงดันและอัตราการเต้นของหัวใจไว้ด้วยกันเพียงเครื่องเดียว

ECRS

            กรณีศึกษาที่ 2 โทรศัพท์ในอดีตที่มีความสามารถโทรออกและรับสายได้เพียงอย่าง เดียว  การที่เราจะใช้อินเตอร์เน็ตได้ต้องไปใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ และจะถ่ายรูปได้ต้องใช้กล้องถ่ายรูป จะโอนเงินจะจ่ายบิลต้องไปที่ธนาคาร  แต่ปัจจุบัน  สมาร์ทโฟนที่ได้ใช้หลักการรวมกัน  C ของ ECRS ที่สามารถทำทุกอย่างได้ด้วยการใช้โทรศัพท์เพียงเครื่องเดียว

 

ตัวอย่างวิธีประยุกต์ใช้หลักECRS

การจัดใหม่ ( Rearrange )

ECRS

            กรณีศึกษาที่  1   ในอดีตการติดต่อราชการต้องเสียเวลาเป็นหลายๆ ชั่วโมง แต่ปัจจุบันก็มีการดำเนินการให้บริการแก่ประชาชนรูปแบบใหม่ อาทิเช่น  วันสต๊อปเชอร์วิส ONE STOP SERVICE สามารถลดระยะเวลา และการเคลื่อนลงได้

ตัวอย่างวิธีประยุกต์ใช้หลักECRS

การทำให้ง่าย ( Simplify )

ECRS

            กรณีศึกษาที่  1 การใช้หลักป้องกันความผิดพลาดหรือเรียกสั้นๆว่า กันโง่ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Foolproof ส่วนภาษาญี่ปุ่นคือ POKAYOKE เป็นวิธีการสร้างความสะดวกสบาย ที่คนไม่มีความรู้อะไรเลยก็ไม่สามารถใช้ หรือประกอบผิดได้   เช่น สายชาร์จโทรศัพท์ที่ไม่ใช่ IPHONE เต้ารับเต้าเสียบไฟฟ้าที่มีสายดินหรือสายกราว   หรือการสร้างอุปกรณ์ช่วยประกอบ JIG Fixture หรือการสร้างอุปกรณ์ช่วยต่างๆ เพื่อให้การทำงานง่ายขึ้น เช่น เครื่องมือช่วยเปิดฝาขวดเป็นต้น

            กรณีศึกษาที่ 2 การทำให้ง่ายๆ ด้วยหลักการเพียงแค่มอง Visual Control ด้วยการใช้แถบสีบ่งบอกสถานะ เช่น สีแดงอันตราย สีเหลืองเตือนให้รู้ว่าอยู่ใกล้จุดอันตราย ส่วนสีเขียวชี้บ่งว่าอยู่จุดปลอดภัย พื้นที่ปกติเป็นต้น

             กรณีศึกษาที่ 3 ที่ง่ายๆมาก คือการออกแบบเหนือชั้นคือ ถึงจะเสียบจะประกอบด้านใดด้านหนึ่งเข้าด้วยกันก็ใช้ได้   เช่น สายชาร์จโทรศัพท์ IPHONE เป็นต้น

บทความที่น่าสนใจ

3MU คือ นิยามความสูญเสียในตำราของญี่ปุ่น MUDA, MURA และ MURI
การตอบสนองลูกค้า QCD SM EE ให้เหนือเกินความคาดหวังของลูกค้า

You may also like...

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *