ธรรมะเติมปัญญา เสริมบุญด้วยการถวายสังฆทาน
วันที่ 22/10/17 เป็นอีกหนึ่งโอกาสที่ได้ไปทำบุญด้วยการถวายสังฆทาน จึงพอมีบุญได้สนทนาธรรมกับหลวงตาหนู แห่งสำนักสงฆ์พุทธเมตตา ทุ่งนาบน ตำบลสวนเมี่ยง อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก ทำให้ได้ข้อคิดหลักปฏิบัติตน ที่สามารถส่งเสริมปัญญาทางจิต และในระหว่างที่สนทนาธรรมะกับหลวงตานั้น สามารถสรุปข้อคิด ธรรมะเติมปัญญา ที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตได้ดังต่อไปนี้
1) การถือศีลให้บริสุทธิ์ โดยมีพื้นฐานจากแนวความคิด ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว นอกจากนี้หลวงตาท่าน ให้เชื่อมั่นแบบบริสุทธิ์และไม่มีความลังเลสงสัยใด ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ การถือศีลให้บริสุทธิ์กับการปฏิบัติตนและการดำรงชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องที่ไม่ลำบากหรือต้องแบกหามอะไรมากมาย เพียงแค่งดเว้น ดังนี้
ข้อ 1 ปาณาติปาตา คือห้ามฆ่าสัตว์ ถ้างดเว้นไม่คิดเบียดเบียนผู้ใดหรือสิ่งมีชีวิตต่างๆที่มีลมหายใจ เราก็จะสามารถรักษาศีลข้อนี้ให้บริสุทธิ์ได้โดยง่าย
ข้อ 2 อทินนาทานา คือการห้ามลักทรัพย์ ถ้างดเว้นจากความอยากได้สิ่งของคนอื่นมาคอบครองเป็นของตนเองแล้วไซ้ ก็จะสามารถระงับหรือรักษาศีลข้อนี้ได้
ข้อ 3 กาเมสุมิจฉาจารา คือการห้ามผิดลูกเมียผู้อื่น หากงดเว้นความหลายใจ ซึ่งสามารถทำได้โดยง่ายด้วยการเป็นคนรักเดียวใจเดียว
ข้อ 4 มุสาวาทา เวระมะณีสิกขาปะทังสะมาทิยามิ นั่นคือ การงดเว้นการพูดสิ่งอันเป็นเท็จ ด้วยการพูดในสิ่งที่เป็นจริง ไม่ใช่เรื่องมโนที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้
ข้อ 5 สุราเมระยะมัชชะประมาทัฏฐานาเวระมะณีสิกขาปะทังสะมาทิยามิ การงดเว้นดื่มสุรายาเมา ถ้าหากเราไม่ชอบ ก็คงสามารถรักษาศีลข้อนี้ได้ไม่ยาก
การรักษาศีลให้บริสุทธิ์นั้น อย่าคิดและเฝ้ามองว่า คนนั้นคนนี้ไม่รักษาศีล ศีลจะบริสุทธิ์ให้มองที่ตัวเรา ศีลอยู่ที่การปฏิบัติซึ่งไม่มีใครสามารถปฏิบัติแทนกันได้ ศีลเหล่านี้ต้องเป็นเรื่องของเราที่ต้องใส่ใจ ซึ่งต้องปฏิบัติจริงเพื่อให้ได้รู้ว่า อะไรผิดหรืออะไรถูกด้วยตนเอง
2) ต้องรู้สภาวะ การปฏิบัติตนให้อยู่กระแสแห่งธรรม ซึ่งต้องเข้าใจความหมายของคำๆนั้นด้วยใจ ด้วยจิตใจไม่ใช่ความรู้และการจดจำ เช่น การเข้าใจคำว่า ความเมื่อย ก็ถือเป็นการเข้าถึงกระแสแห่งการยึดติด ธรรมชาติของสังขารเราเป็นสิ่งไม่เที่ยง ไม่ควรนำไปยึดถือไว้ให้หนักจิตใจ เพราะสิ่งที่มนุษย์อย่างเรากำลังเผชิญอยู่นั้น คือการยึดมั่นถือมั่น หากไม่ให้สำคัญที่ตัวมัน ไม่ได้มองร่างกายว่ามันคือของเรา มันก็ไม่ทุกข์อะไร เหมือนกับ คำว่า “เมื่อย” หากจิตมันมีปัญญา ก็สามารถคิดได้ว่า “ เมื่อย แล้วหากได้พักผ่อนเดี๋ยวมันก็หายได้ เราก็ไม่เป็นทุกข์ ”
หากถามว่าปัจจุบันนี้หลวงตาเหนื่อยหรือไม่ สามารถตอบได้ทั้ง 2 อย่าง ให้พูดว่า เหนื่อยก็เหนื่อย แต่ถ้ามองว่ามันไม่เหนื่อยก็ไม่เหนื่อย หลวงตาก็ใช้การพิจารณาไปกับสิ่งอื่นๆ โดยไม่ได้ให้ความสนใจกับความเหนื่อย หลวงตาก็จะไม่เหนื่อย ซึ่งเหมือนกับการเห็นทุกข์ก็เห็นทางแห่งพระนิพพานได้เช่นกัน การมองเห็นได้ว่า ร่างกายเราไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของเรา ก็เป็นทางแห่งพระนิพพานได้ หลวงตากล่าวว่า ตอนแรกก็ยังไม่เข้าใจ จนได้ฝึกสมาธิจากการเดินจงกรม แล้วใช้สติปัญญาในการคิดตึกตรอง จึงรู้และเข้าใจถึงความหมายของคำว่า เหนื่อย จึงเป็นหนทางที่อยู่ในกระแส เพราะอารมณ์และจิตของเราเป็นตัวอุปทานขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่พระองค์ท่านได้สอนว่า เรามีความเกิด แก่ เจ็บและตายเป็นธรรมดา จะหลุดพ้นไปไม่ได้ จึงเข้าใจได้ว่า ความเหนื่อยและความหน่ายในร่างกายก็เป็นหนทางแห่งพระนิพพานนั่นเอง ถ้าเรามองเห็นความเหนื่อยหน่าย มันก็จะเป็นหนทางแห่ง การพ้นจากทุกข์
3) อย่ายึดติด มีพระหนุ่มมหานิกาย ได้ถามหลวงตาว่า การเป็นพระธรรมยุติหรือพระมหานิกายดี สมควรไปญัตติเป็นธรรมยุติดีหรือไม่ หลวงตาสามารถตอบได้ว่า “ไม่สามารถให้คำตอบได้” เพราะการเป็นพระญัตติด้านไหน ก็ไม่ได้มีความพิเศษไปมากกว่ากัน เพราะการเป็นพระมหานิกายหรือธรรมยุติก็ดีเหมือนกัน เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่สำคัญอยู่ที่การเป็นพระผู้ปฏิบัติดี เช่นเดียวกับการที่เราได้ไปทำบุญในวัดธรรมยุติ แต่เห็นท่าที่พระในวัดธรรมยุตินั้น ปฏิบัติแบบแปลกๆ หรือไม่ก็ในวัดนั้น มีการเลี้ยงไก่เพื่อเอาไว้ชนกัน เราก็คงไม่ได้ศรัทธาแล้วใช่หรือไม่
4) อย่าประมาท อย่าอยู่ไปเรื่อยๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์เป้าหมาย หลวงตาท่านได้สอบถามพระใหม่องค์หนึ่งที่อยู่วัดในหมู่บ้าน ( ซึ่งพระหนุ่มแถวบ้านเขาจะเรียกกันว่าหม่อม ) ” หม่อมออกพรรษาแล้วจะสึกหรือไม่ ” พระใหม่องค์นั้น ก็เพียงได้แค่ตอบว่า “อยู่ไปเรื่อยๆ หลวงตา” หลวงตาท่านจึงได้เล่าว่า “หม่อม” ขอยกตัวอย่างนะ มีพระรูปหนึ่งที่ท่านบวชมาตั้ง 5 พรรษาแล้ว แต่ยังไม่สามารถสวดพระอภิธรรมได้เลย เพราะการที่พระองค์นั้นเขาคิดเหมือนกับหม่อมนั้นแหละ ให้ที่แทนการคิดว่าอยู่ไปเรื่อยๆ แล้วเปลี่ยนเป็น การตั้งใจตั้งมั่น หมั่นฝึกฝนและภาวนา ซึ่งคำว่า ประมาท เป็นพระราชดำรัสขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในช่วงปัจฉิมนิเทศ ที่พระองค์ท่านได้ทรงตรัสกับสงฆ์สาวกของพระพุทธองค์ว่า ชีวิตของพวกเรามันสั้นนัก พวกเธอจงอย่าประมาท เพราะหาพวกเธอประมาท นั่นคือพวกเธอได้ตายแล้ว
5) มีความอ่อนน้อมถ่อมตน หลวงตาท่านกล่าวว่า ต่อให้เป็นพระใหม่หลวงตาก็จะยกมือใส่หัวก่อนเสมอ การยกมือใส่หัวไม่หนักเลย มือก็เป็นมือของเรา หัวก็เป็นของเรา มันไม่ได้ทุกข์อยากเลย แต่จะให้คุณแก่เราต่างหาก การจะเป็นผู้ที่ยิ่งใหญ่ก็คือ การอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ใช่เป็นผู้ที่แข็งกร้าว แข็งกระด้าง
6) เรื่องคนเป็นเรื่องสำคัญ ในวัดมีศาลาที่เป็นหลังเก่าและวัดนี้เป็นเพียงสำนักสงฆ์ ซึ่งมีบางกลุ่มคนที่ไม่อยากให้วัดนี้เกิดขึ้น หลวงตาท่านเกรงว่า อาจจะมีผู้ไม่หวังดีเข้ามาต่อต้านได้ หากจะทำการบูรณะศาลา หลวงตาท่านจึงเล่าว่า ก่อนที่จะทำการบูรณะศาลาที่หลังคารั่วและเสื่อมโทรมได้ เราจะต้องสร้างคนก่อน เพราะหลวงตาไม่อยากให้คนทำบาปอย่างแรง เพราะถึงแม้ว่าจะทำการบูรณะสถานที่สำเร็จหรือไม่สำเร็จ แต่หากมีคนเข้ามาขัดขวางก็จะเป็นบาปต่อเขาได้
7) การสร้างบุญ สร้างอานิสงค์ ตอนที่เป็นโยมหรือเป็นฆราวาส หากไม่ได้ทำบาปรุนแรง ไม่ได้ตีพระ ด่าชี แต่ทำดีด้วยการชวนคนอื่นไปทำบุญเช่น การสร้างที่พักให้พระสงฆ์ได้บำเพ็ญเพียร เมื่อตายไปก็เป็นเทวดาได้เช่นกัน ให้หมั่นทำบุญ โดยเฉพาะการทำบุญกับตนเองเช่น การทำสมาธิมีสติและการเจริญปัญญา
8) การปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเกินไป ก็ไม่ดีเสมอไป อย่ายึดติดกับความจริงจังมากจนเกินไป หลวงตายกตัวอย่างว่า มีพระรูปหนึ่งในอดีตกาล ตอนแรกเป็นเพียงแค่ฆราวาส ซึ่งตอนแรกเพียงแค่รักษาศีล 8 อยู่ไปก็คิดว่า ตนถือศีลน้อยไป จึงขอบวชเป็นพระกับพระพุทธเจ้า แต่ด้วยความยึดติด ทำให้พระองค์นั้นปฏิบัติต่อพระวินัยอย่างเคร่งครัดเป็นอันมาก จนไม่สามารถเคลื่อนไหวไปไหนมาไหนได้ เพราะเกรงว่า จะผิดพระวินัย จึงขอกลับไปรักษาศีล 8 เหมือนเดิม
พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสกับพระรูปนั้นว่า ต่อไปนี้เธอจงรักษาศีลเพียงข้อเดียวเท่านั้น นั้นคือจงอยู่กับจิตของตนเองให้ดี จนทำให้พระองค์นั้นสามารถหลุดพ้นได้ ซึ่งเรื่องบางอย่างจะต้องอาศัยความเพียร ความขยัน ความอดทน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องการทำผิดวินัยที่เป็นที่ร้ายแรง อย่างเช่นการอยู่กับหญิงในที่ลับ
9) มนุษย์ทุกคนเหมือนกัน การมองเห็นคนเดียวก็สามารถมองเห็นทุกคนบนโลกนี้ได้ คนเรามีความเกิด ความแก่ ความตาย การเน่าเปื่อย แม้แต่เสื้อผ้าที่ใส่ อาหารที่กินเข้าไป ก็เน่าเปื่อยเป็นธรรมดาเหมือนกันทั้งโลก สังขารของมนุษย์ประกอบด้วย ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ เมื่อตายไปส่วนที่เป็นดินก็จะกลายเป็นดิน ส่วนที่เป็นน้ำก็จะกลายเป็นน้ำ ทุกสิ่งย่อมสลายไปตามกฎของธรรมชาติ ใครที่สามารถเห็นทุกข์และสาเหตุของทุกข์ได้ ก็จะสามารถรู้วิธีดับทุกข์ได้เช่นกัน คำว่า “ ทุกข์ ” สามารถเกิดขึ้นได้กับสัตว์ที่มีลมหายใจทั้งหมด ตั้งแต่สิ่งมีชีวิตเล็กๆ งู เงี้ยว นก สัตว์ที่มีสมองหรือแม้แต่สัตว์ที่ไม่มีมันสมองก็ตาม ก็มีทุกข์ได้เหมือนกัน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตาและการเข้าใจว่าไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของของเรา ก็พ้นทุกข์ได้
10) การรู้เหตุแห่งทุกข์ อย่าใช้สัญญาหรือความจำจากความรู้ในหนังสือ เพราะไม่สามารถดับทุกข์ได้ แต่ต้องใช้จิต เพื่อมองเห็นเหตุแห่งทุกข์ ความทุกข์ดับด้วยการวาง ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากที่สุด เพราะเรามีชีวิตอยู่กับความทุกข์ ตัวเราเป็นสิ่งปฏิกูลและมีชีวิตอยู่ในโลกธรรมทั้ง 8 คือ ได้ลาภ-เสื่อมลาภ ได้ยศ-เสื่อมยศ มีสรรเสริญ-มีนินทาว่าร้าย มีสุขย่อมมีทุกข์ ให้เพ่งมองตัวเอง เพื่อให้จิตได้รู้ว่าตัวเราคือสิ่งปฏิกูลและตั้งอยู่ใน อนิจจังทุกขังอนัตตา แล้วภาวนาให้เข้าถึงสภาวะธรรม ใช้ความเป็นทางสายกลาง ด้วยวิปัสสนาคือ การอุบายให้เกิดปัญญา และมีสมาธิสมถะคือ การกำหนดรู้ กับการกำหนดลมหายใจ หลังจากนั้นก็พิจารณาสรีระของตนเอง ตั้งแต่ผมจรดเท้า ว่าเป็นสิ่งปฏิกูลที่สามารถเกิดขึ้น ได้ทุกๆส่วนของร่ายกาย สุดท้ายนี้สามารถสรุปอย่างง่ายๆ ศีล สมาธิ ปัญญา สามารถทำให้รู้วิธีดับทุกข์ได้ ” ธรรมะเติมปัญญา “
- บทความที่น่าสนใจ วิธีมองโลกในแง่ดี คิดบวกพลิกวิกฤต เปิดโอกาสชีวิต
คลิป เกิดมาทำไม https://www.youtube.com/watch?v=bGZRei9P6XE&t=330s