ข้าวหลาม ประเพณีพื้นบ้าน เพิ่มไขมันดีให้กับร่างกาย สร้างความสามัคคี

ข้าวหลามพื้นบ้าน

              ขอนำเสนอการทำ ข้าวหลามพื้นบ้าน ไม่ปรุงแต่ง ตามประเพณีดั้งเดิม ที่คงความเป็นเอกลักษณ์

             ประวัติและที่มาของ ข้าวหลาม สันนิษฐานว่า น่าจะเกิดมาจากประเพณีของคนไทยภาคเหนือและภาคอีสาน ที่นิยมบริโภคข้าวเหนียวเป็นอาหารมื้อหลัก  บวกกับคนในยุคโบราณมักจะสรรหาวิธีการทำขนมจากข้าว  หรือไม่ก็อาจจะเกิดจากชาวบ้านที่เข้าไปล่าสัตว์หรือเก็บของป่า  แล้วจำเป็นต้องค้างแรมในป่าเขา โดยไม่มีอุปกรณ์ในการหุงหาอาหาร จึงตัดกระบอกไม้ไผ่ มาเป็นภาชนะในการหุงข้าว ทำให้ข้าวมีความหอมจากเยื่อไผ่และจับตัวกับได้ดีมากขึ้น  ต่อมาจึงเกิดไอเดียปรุงแต่งรสชาติ  ตามวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่นนั้นๆ  เช่น อาจจะเริ่มต้นด้วยการใส่เกลือลงไปในข้าว  ใส่น้ำตาลลงไป ใส่กะทิลงไป ฯลฯ จนกลายมาเป็นข้าวหลามในปัจจุบัน  ในยุคปัจจุบันข้าวหลามชื่อดัง อร่อยๆ ก็กลายเป็นของกิน ที่กระจายไปตามภูมิภาคต่างๆเช่น ข้าวหลามหนองมน จังหวัดชลบุรีเป็นต้น

ข้าวหลาม

        ข้าวหลามพื้นบ้าน มักจะทำกันในช่วงไหนกัน

         ประเพณีพื้นบ้าน มักจะทำข้าวหลามกันในช่วงปลายฤดูฝนต้นหนาว ใกล้ๆออกพรรษา จนผ่านพ้นพรรษาไป 1 เดือนโดยประมาณ เพราะช่วงนี้เป็นฤดูเก็บเกี่ยวข้าวนาปี  จึงทำให้ได้ข้าวใหม่ซึ่งเพิ่มความหอมให้แก่ข้าวหลามมากเป็นพิเศษ  บวกกับต้นไผ่ที่เกิดใหม่ในช่วงต้นฤดูฝน ก็จะเติบโตและมีเยื่อที่เหมาะกับการทำข้าวหลาม  เพราะจะได้เยื่อไผ่ไม่แก่ ไม่เหนียวและไม่แข็งเกินไป   จึงเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการทำข้าวหลาม  นอกจากนี้ช่วงออกพรรษาในภาคเหนือบางพื้นที่  ก็ยังมีประเพณีจุดบั้งไฟด้วย

        ประโยชน์ของข้าวหลามพื้นบ้าน

        ข้าวหลาม พื้นบ้านเป็นขนมหรืออาหารอย่างหนึ่งที่ให้พลังงานสูง  เพิ่มไขมันดีให้กับร่างกายจากน้ำกะทิ หากนำเม็ดธัญพืชต่างๆ เติมลงไป ก็จะได้โปรตีน และวิตามินต่างๆ  นอกจากนี้แล้วการทำข้าวหลามพื้นบ้านยังสร้างความสามัคคีให้แก่คนในครับครัวได้ เพราะกว่าจะเป็นข้าวหลามได้ ไม่ว่าหญิง-ชายต้องช่วยกันหมดทั้งครอบครัว เช่น ผู้ขายไปตัดลำไผ่ เก็บฟืน ผู้หญิงก็เตรียมเครื่องปรุงต่างๆ

ข้าวหลาม

      วิธีการทำข้าวหลามพื้นบ้าน

ขั้นตอนแรกก็คงต้องเป็นการเตรียมอุปกรณ์และวัตถุดิบ

  1. สิ่งที่ยากที่สุด ขั้นตอนการเตรียมอุปกรณ์นั้นก็คือ การตัดไม้ไผ่ลำขนาดพอเหมาะ โดยไม้ไผ่ข้าวหลามพื้นบ้าน นั้นต้องใช้ไผ่ป่าและมักจะมีหนาม และต้องเลือกลำไผ่ที่เกิดในช่วงต้นปี ตามที่ได้กล่าวเอาไว้  หลังจากได้ไม้ไผ่มาแล้ว  ให้ทำการตัดลำไผ่ออกเป็นท่อนๆ โดยให้ตัดใต้ข้อ 1 นิ้วโดยประมาณ เพื่อให้ง่ายต่อการฝังดิน

  2. นำข้าวเหนียวใหม่ที่ผ่านการขัดสี ไปแช่น้ำประมาณ 3 ชม. เพราะข้าวใหม่ไม่จำเป็นต้องแช่น้ำนาน เมื่อถึงเวลาก็ซาวข้าวและเทน้ำข้าวออก ล้างด้วยน้ำเปล่าเล็กน้อย

  3. เตรียมกระทิ กระทิที่ดีก็ต้องลงมือทำเอง  ตอนนี้แหละครับลำบากมาก เพราะต้องใช้ความอดทน  โดยนำมะพร้าวแก่ไปปอกเปลือกนอกออก แซะขุยมะพร้าวออกให้หมดทั้งลูก เพราะหากปล่อยไว้ก็จะทำให้ขุยมะพร้าวตกใส่น้ำกระทิ  หลังจากนั้นก็ผ่ามะพร้าวออกเป็น 2 ซีก   ใช้กระต่ายขุดมะพร้าวให้เป็นฝอยเล็กๆ   หลังจากนั้นก็คั้นน้ำกระทิ แนะนำคนที่จะคั้นน้ำกระทิได้ต้อมมีข้อมือที่แข็งแรง  นำน้ำอุ่นมาเทใส่ในฝอยมะพร้าวและก็คั้นนวดไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้น้ำกระทิที่ขาวขุ่น  ทำการปั้นน้ำกระทิผ่านตะแกรงกรอง   เราก็จะได้น้ำกระทิสดๆ (น้ำมันมะพร้าวเป็นไขมันชนิดดี และให้พลังงานสูง ช่วยบำรุงผิวพรรณให้ชุ่มชื้นตลอดเวลา)

  4. ความอร่อยของข้าวหลามคือ ความหวาน มัน เค็ม ที่ผสมกันอย่างลงตัว ดังนั้นขั้นตอน การผสมน้ำกะทิจึงสำคัญมาก โดยการกะประมาณน้ำกะทิแล้ว โรยเกลือและน้ำตาลตามเล็กน้อย  คนให้เข้ากัน

  5. นำข้าวเหนียวกรอกลงไปในกระบอกไม้ไผ่ กระแทกเบาๆเพื่อให้ข้าวเรียงตัวกันได้ดี  กรอกต่อไปเรื่อยๆจนกระทั่งข้าวเกือบเต็มปลายกระบอก  หลังจากนั้นก็เทน้ำกะทิลงไปในกระบอก โดยให้น้ำกะทิขึ้นมาปิ่มๆพอดีกับข้าว หลังจากนั้นให้นำฝอยมะพร้าวที่คั้นน้ำออกแล้ว มาอุดที่ปากกระบอกข้าวหลาม  เพื่อป้องกันฝุ่นผงเข้าไปขณะที่เผาข้าวหลาม

  6. นอกจากนี้ยังมี ข้าวหลามสูตรพิเศษต่างๆ เช่น การนำเม็ดธัญพืชจำพวกถั่วต่างๆที่ผ่านการแช่น้ำแล้ว หรือไม่ก็  มันเทศ มันฝรั่ง หั่นเป็นชิ้นๆ นำไปคลุกผสมกับข้าวก่อนกรอกลงไปในกระบอก

การเผาข้าวหลวม

  1. หาท่อนฟืน มากองไว้

  2. ทำการขุดดินเป็นร่อง พอให้ฝังก้นกระบอกข้าวหลามได้พอดี ความลึกเท่ากับระยะข้อไม้ไผ่ที่ตัด หลังจากนั้นก็นำข้าวหลามไปฝังโดยตั้งกระบอกชี้ขึ้น ไปบนท้องฟ้า

  3. ก่อไฟ โดยวางฟืนให้มีระยะห่างจาก กระบอกข้าวหลาม 15 เซนติเมตรโดยประมาณ เพราะแท้จริงแล้วเราไม่ได้เผาที่กระบอกข้าวหลาม  แต่เราจะอาศัยความร้อนจากเปลวไฟและการแผ่ความร้อน คอยเฝ้าระวังอย่าให้เปลวไฟโหมลุกไหม้จนเกินไป เพราะจะทำให้กระบอกข้าวหลามไหม้ก่อนที่ข้าวจะสุก

  4. ทิ้งไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง ข้าวหลาม ก็จะสุก

  5. หลังจากนั้นก็ปอกเปลือกไม้ไผ่ออก โดยให้เหลือไว้เป็นแผ่นบางๆ เพราะจะได้จับและปอกข้าวหลาม กินได้อย่างง่ายๆ และฟินเวอร์  เรื่องเล่า ข้าวหลามพื้นบ้าน ก็มีเพียงเท่านี้

บทความที่น่าสนใจ  จิ้งหรีดทอดกรอบ มีประโยชน์ อร่อย เป็นแมลงที่ให้โปรตีนสูง ให้พลังงานสูง

You may also like...

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *