การละเล่นไทย การละเล่น พื้นบ้าน ศิลปะ วัฒนธรรมไทย ที่กำลังจะสูญหาย
ประโยชน์ของ การละเล่นไทย จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการเด็กๆ ตลอดจนการอนุรักษ์สืบสานศิลปวัฒนธรรมประเพณีไทยให้อยู้กับไทยไปอีกนาน เด็กไทยควรได้รับการดูแลและส่งเสริม ให้มีพัฒนาการที่เหมาะสมกับช่วงอายุและวัย เพราะจะทำให้เด็กไทยมีสติปัญญา IQ และความฉลาดความมั่นคงทางด้านอารมณ์ EQ ซึ่งความฉลาดหลักแหลม จะช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆและเป็นรากฐานแห่งความสำเร็จในชีวิต ส่วน EQ จะช่วยในเรื่องของการควบคุมอารมณ์ เพื่อไม่แอนเอียงไปกับสิ่งเร้าและสามารถควบคุมตนเองได้ อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
ปัจจุบันครอบครัวมีขนาดเล็กลง บ้านกลายเป็นสังคมเดี่ยวมากขึ้น เพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้กันมักจะไม่รู้จักกัน จึงทำให้เด็กๆ ถูกเลี้ยงดูและให้เล่นคนเดียวภายในบ้าน อาจจะเป็นการเล่นคอมพิวเตอร์ เกมส์มือถือหรือไม่ก็ดูการ์ตูนละครหน้าจอทีวี ซึ่งปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นมาจากการแข่งขั้น เพื่อทำมาหากิน บวกกับการเปลี่ยนแปลงจากความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี ถึงแม้จะมีข้อดี แต่ก็ยังมีข้อเสียแอบแฝงและทำให้เด็กมีพัฒนาการเพียงด้านใดด้านหนึ่งอย่างชัดเจนมากจนเกินไป
ต่างกับเด็กในสมัยอดีตที่ การละเล่นไทย ช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก ให้มีความสมดุลได้ครอบคลุมทุกๆด้าน นอกจากนี้อุปกรณ์ของเล่น ก็เกิดจากการประยุกต์ขึ้นจากอุปกรณ์ที่หาได้ในท้องถิ่น บ้างก็เป็นของเหลือใช้จาการทำของกินหรือการทำขนมต่างๆ แล้วนำทำเป็นของเล่นให้กับเด็กๆ ของเล่นไทยในอดีตทำขึ้นจากวัสดุที่หาได้จากธรรมชาติ จึงไม่เป็นอันตรายสำหรับเด็กๆ
ซึ่งต่างกับยุคปัจจุบันที่อุปกรณ์ของเล่น ถูกประดิษฐ์ขึ้นจากสารสังเคราะห์ ที่อาจก่อเกิดอันตรายด้านต่างๆ เพราะอาจมีสารตกค้างในของเล่น เมื่อเด็กๆเล่นก็ทำให้สารเคมีเหล่านั้นเข้าสู่ร่างกายและส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโต หรือกลายเป็นสาเหตุของโรคต่างๆในเด็ก
การละเล่นไทย มีประโยชน์มากมายดังนั้น เนื่องจากการละเล่นไทยหลายประเภทจะละเล่นกันเป็นกลุ่ม จึงช่วยส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการด้านสังคม รู้จักการแบ่งปัน รู้จักแพ้ชนะรู้อภัย การละเล่นต่างๆนอกจากสร้างความสนุกสนานเพลิดเพลินแล้ว ยังช่วยส่งเสริมทำให้เด็กมีร่างกายที่แข็งแรง มีภูมิต้านทานโรคสูง ไม่เจ็บป่วยง่ายๆ เมื่อพัฒนาการด้านร่างกายดี ด้านจิตใจเด็กก็จะดี และผมเชื่อว่าการละเล่นไทยพื้นบ้านจะเป็นตัวช่วยลดปัญหาเด็กติดเกมส์ในปัจจุบันได้ ซึ่งโทษการติดเกมส์ของเด็กจะทำให้เด็กก้าวร้าว เพราะเกิดจากการเลียนแบบการต่อสู้ ในเกมส์จากการแข่งขัน
การละเล่นไทย การละเล่นพื้นบ้านที่กำลังจะสูญหายไปจากสังคมไทย เพราะการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมอันได้แก่
1.การเล่นกระโดดเชือก
รูปแบบการเล่นกระโดดเชือกมี 2 วิธีคือ
วิธีที่1) ใช้หนังยางมาร้อยต่อกันเป็นเชือกให้ยาวพอดี กติกาคือแบ่งออกเป็น 2 ทีม ใช้คน 2 คนไปจับปลายเชือกทั้ง 2 ข้าง แล้วดึงเชือกให้พอดี ไม่หย่อนหรือตึงจนเกินไป หลังจากนั้นก็ให้เพื่อนคนอื่นๆ กระโดดข้ามไป โดยการผ่านด่านหรือการชนะ จะไล่จากความสูของเชือกระดับต่ำๆ ตั้งแต่ข้อเท้าไปจนถึงระดับยื่นมือเหนือศีรษะ กติกาเมื่อกระโดดข้ามไม่ได้ต้องปล่อยให้อีกฝ่ายเล่นต่อ ทีมใดสามารถกระโดดข้ามเชือกได้จนถึงระดับสุดท้ายก่อน ฝ่ายนั้นจะเป็นผู้ชนะ
วิธีที่ 2) การนำปลายเชือกของหนังยางไปผูกติดกัน แบ่งทีมออกเป็นทีมละ 3 คน โดยให้ทั้งสามคนยืนอยู่ข้างในของเชือก สามมุมแล้วกางเชือกออกเป็นสามเหลียม แล้วให้เพื่อนอีกทีมเขย่งเท้ากระโดดไปตามเชือกให้ครบทั้ง 3 ด้าน การผ่านด่านนั้นก็ไล่ระดับจากระดับที่ต่ำสุดจากตาตุ่มไปจนถึงเอว ซึ่งใช้กติกาลักษณะเดียวกับวิธีที่ 1
ประโยชน์การละเล่นกระโดดเชือก จะช่วยทำให้เด็กมีร่างกายแข็งแรง รู้จักการเข้าสังคม รู้จักแพ้ชนะและฝึกการทำงานเป็นทีม
2. การละเล่นม้าก้านกล้วยและปืนก้านกล้วย
เป็นของเล่นที่ประดิษฐ์ที่ทำขึ้นจากของเหลือใช้ เป็นสิ่งประดิฐจากภูมิปัญญาไทย เป็นของเล่นพื้นบ้าน ที่ทำให้เด็กไทยได้เรียนรู้การใช้วัสดุต่างๆให้เกิดประโยชน์สุดสุด ในอดีตการทำขนมพื้นบ้านไทย จะนิยมห่อขนมด้วยใบตองหรือใบกล้วย เมื่อผู้ใหญ่ตัดใบตองออก ก็จะเหลือก้านของกล้วยและนำก้านกล้วยนั้นทิ้งไป แต่ในยุคอตีดไม่มีของเล่นให้เด็กได้ไปวิ่งเล่น และจะได้ไม่มารบกวนการทำขนม ผู้ใหญ่ก็มักจะประดิษฐ์ของเล่นให้กับเด็กๆ เช่น ม้าก้านกล้วย ปืนก้านกล้วย เป็นต้น
วิธีการทำม้าก้านกล้วย ใช้หัวก้านกล้วยซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าส่วนปลาย ทำเป็นหัวม้าด้วยการใช้มีดเฉือนด้านข้าง ของก้านกล้วยทั้งสองด้าน ให้ยาวประมาณ 2 นิ้ว เพื่อทำเป็นหูม้า หลังจากนั้นทำการหักให้เป็นหน้าม้า แล้วใช้เชือกกล้วยผูกหัวท้ายทำเป็นที่สะพาย กติกาในการเล่นม้าก้านกล้วยนั้น เด็กๆมักแบ่งทีม เพื่อวิ่งแข่งขันกัน หากใครขี่ม้าถึงเส้นชัยก่อน ให้ถือว่าเป็นผู้ชนะ บ้างครั้งก็ขี่เล่นคนเดียวไป-มาตามบริเวณบ้าน ส่งเสริมให้เด็กมีสุภาพดีแข็งแรง
ปืนก้านกล้วย ทำได้ง่ายตามภาพเลยครับ ปืนก้านกล้วยช่วยเสริมสร้างจินตนาการ ถึงการต่อสู้รบกับศัตรูของทหาร เพื่อให้รู้จักการหวงแหงพื้นดินไทยเแผ่นดินเกิด การละเล่นก็แบ่งกันเป็นทีมแล้วยิงต่อสู้กัน ประโยชน์ช่วยสร้างความสนุกสนานให้กับเด็กๆ แถมยังให้เด็กๆ ได้ออกกำลังกาย ทำให้เด็กมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีจินตนาการ การละเล่นแบบนี้ยัง เป็นการละเล่นที่ปลอดภัยจากสารเคมี สอนให้เด็กๆรู้จักการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
3.การละเล่นหมากเก็บ
เป็นการละเล่นที่ใช้อุปกรณ์ง่ายๆ สามารถหาได้ตามธรรมชาติ เพียงแค่หาก้อนหินมา 5 ก้อน กติกาในการเล่นมีด้วยกันหลากหลายรูปแบบด้วยกัน แต่ในบทความนี้จะนำเสนอเพียงหนึ่งรูปแบบเท่านั้นคือ
วิธีการโยนหิน 1 ก้อนขึ้นด้านบน แล้วปล่อยหิน 4 ก้อนที่เหลือลงบนพื้น กติกาคือ หินก้อนที่โยนขึ้นจะต้องสามารถรับไว้ในมือได้ ใครเล่นจบ 4 ขั้นก่อนจะเป็นผู้ชนะ
ขั้นที่ 1 โยนหินขึ้นบน 1 ก้อน แล้วปล่อยให้หินที่เหลือหล่นลงพื้น แล้วกลับไปรับหินที่โยนขึ้น หลังจากนั้นโยนก้อนหินที่รับได้ขึ้นอีกครั้ง และในระหว่างที่หินก่อนนั้นลอยขึ้น ก็จะต้องไปเก็บหินจากพื้นที่ละก้อน แล้วกลับไปรับก้อนหินที่โยนขึ้น ทำเหมือนเดิมจนเก็บก้อนหินบนพื้นที่เหลือได้ทั้งหมด กติกาในขณะที่ทำการเก็บหินบนพื้น จะต้องไม่สัมผัสกับหินก้อนอื่นๆ หากหินก้อนอื่นมีการเคลื่อนไหวถือว่า ฟาล์ว ต้องเปลี่ยนให้เพื่อนเล่น
ขั้นที่ 2 โยนหิน 1 ก้อนแล้วปล่อยให้หินที่เหลือหล่นลงพื้น แล้วรับก้อนหินที่โยนขึ้น หลังจากนั้นโยนหินขึ้นอีกครั้ง แล้วในระหว่างที่หินก้อนนั้นลอยขึ้น ก็ไปเก็บรวบหินจากพื้นครั้งละ 2 ก้อน แล้วก็กลับไปรับก้อนหินที่โยนขึ้น เป็นจำนวน 2 ครั้ง
ขั้นที่ 3 โยนหิน 1 ก้อนแล้วปล่อยให้หินที่เหลือหล่นลงพื้น แล้วรับก้อนหินที่โยนขึ้น หลังจากนั้นโยนหินขึ้นอีกครั้ง แล้วในระหว่างที่หินก้อนนั้นลอยขึ้น ให้เก็บหินจากพื้นครั้งแรก 1 ก้อน หลังจากนั้นกลับไปรับก้อนหินที่โยนขึ้น ครั้งถัดไปทำเหมือนขั้นตอนที่สอง แต่ต้องเก็บรวบก้อนหินที่เหลือ
ขั้นที่ 4 โยนหิน 1 ก้อนแล้วปล่อยให้หินที่เหลือหล่นลงพื้น แล้วรับก้อนหินที่โยนขึ้น หลังจากนั้นโยนหินขึ้นอีกครั้ง แล้วในระหว่างที่หินก้อนนั้นลอยขึ้น ให้เก็บรวบก้อนหินจากพื้นทั้ง 4 ก้อน หลังจากนั้นก็กลับไปรับก้อนหินที่โยนขึ้น
สุดท้ายจะเป็นการเก็บคะแนนคือ นำหิน 5 ก้อนมาวางไว้บนฝ่ามือ โยนขึ้นแล้วใช้หลังมือรับ หลังจากนั้นโยนหินที่รับได้ ขึ้นอีกหนึ่งครั้ง แล้วใช้ฝ่ามือรับ จำนวนก้อนหินที่รับได้และเหลืออยู่ในมือ ถือว่าเป็นคะแนน เทคนิคก็คือให้ทำหลังมือแอ่นมากๆ เพื่อรอรับหิน ไม่โยนหินสูงเกินไป จะรับหินได้น้อย
การละเล่นแบบนี้ทำให้เด็กมีทักษะการในวางแผน ช่วยในการบริหารส่วยต่างๆของร่างกาย ทำอวัยวะทำงานประสานกันได้ดียิ่งขึ้นเช่น สายตาและมือต้องสัมพันธ์กัน เกมส์นี้สอนให้รู้จักแพ้ รู้จักชนะ
4.การดีดลุกแก้วลงหลุม
วิธีเล่น จะเล่นเป็นทีมหรือเล่นเดี่ยวก็ได้ การแข่งขันให้ลูกแก้วลงหลุม ด้วยการใช้นิ้วดีดลูกแก้ว ซึ่งแต่ละเกมส์จะใช้ลูกแก้วครั้งละลูก กติกาการเล่น จะขุดหลุมไว้ 3 หลุม โดยแต่ละหลุมจะบ่งบอกสถานะของลูกแก้ว และขนาดของหลุมจะเล็กเพียงแค่ลูกแก้วลงได้ อาจจะใช้เงินเหรียญบาทปั่นดินทำเป็นหลุม
การออกตัวครั้งแรกให้แต่ละคนยืนหลังเส้นสตาร์ท แล้วโยนให้ลูกแก้วเข้าใกล้หลุมที่ 1 ให้มากที่สุด ใครสามารถโยนได้ใกล้กว่า จะเป็นผู้มีสิทธิ์ได้เล่นก่อน อาจจะแกล้งคนอื่นด้วยการดีดลูกแก้วของตนเองไปใส่ลูกแก้วของคนอื่นๆ ออกไปให้ไกลๆจากหลุม เพื่อไม่ให้คนอื่นมาขัดขวางการลงหลุมถัดไป หลังจากนั้นต้องรีบดีดลูกแก้วลงหลุมให้เร็ว เพื่อเปลี่ยนแปลงสถานะลูกแก้วของตนเอง และดีดไปยังหลุมต่อไป โดยหลุมสุดท้ายจะมีสถานะสูงสุดเรียกว่า เสือ เมื่อดีดลูกแก้วโดนลูกแก้วของคนอื่นๆ ลูกแก้วของคนนั้นก็จะตายหรือถูกกิน การละเล่นนี้ฝึกให้รู้จักการวางแผน รู้จักแพ้ชนะรู้อภัย การรู้จักการเข้าสังคม
5.การละเล่นมอญซ่อนผ้า
เริ่มจากการเลือกคนที่จะกลายเป็นคนซ่อนผ้า ด้วยการเป่ายิ้งฉุบ หลังจากนั้นคนอื่นๆนั่งล้อมเป็นวงกลมและหันหน้าเข้าหากัน คนที่นั่งจะต้องปรบมือพร้อมๆกับการร้องเพลงมอญซ่อนผ้า
โดยคนที่ซ่อนผ้าจะเดินไปรอบวงแล้วแอบวางผ้าไว้หลังคนอื่นๆ เมื่อเพลงจบลง คนที่นั่งต้องหันหลังกลับเพื่อตรวจสอบ ว่ามีผ้าซ่อนไว้ข้างหลังตนเองหรือไม่ แล้วคนที่มีผ้าซ่อนไว้ จะต้องลุกขึ้นนำผ้าวิ่งไปไล่ตีคนซ่อนผ้า ขณะเดียวกันคนที่เป็นฝ่ายเอาผ้าไปซ่อน จะต้องรีบวิ่งไปนั่งแทนตำแหน่งคนที่ถูกซ่อนผ้าให้เร็วที่สุด หากวิ่งไม่ทันจะโดนตีด้วยผ้า ก็จะทำให้ตนเองต้องกลายเป็นคนซ่อนผ้าอีกครั้ง การละเล่นนี้สอนให้เด็กมีร่างกายแข็งแรง รู้จักการแข่งขัน รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย
6.การละเล่นตีไก่
ไก่ในที่นี้หมายถึงหญ้าแพรกที่มีดอกหรือมีปม กติกาให้แต่ละคนหาหญ้าแพรกที่มีปม ที่คิดว่าแข็งและเหนียวที่สุด หลังจากนั้น นำหญ้าแพรกมาตีกัน ถ้าหากของใครขาดก่อนจะเป็นผู้แพ้ เกมส์นี้ทำให้เกิดการเรียนรู้ วิธีการคัดเลือก ช่วยฝึกการตัดสินใจ ฝึกทักษะการเอาชนะผู้ต่อสู้ เสริมสร้างความฉลาดปราดเปรื่องให้กับเด็ก รู้จักการวางแผนเพื่อจะเอาชนะ
7.การละเล่นเป่าหนังยาง
กติกาในการแข่งขัน เป็นการเป่าหนังยางของตนเอง ให้ไปประกบกับหนังยางฝั่งตรงข้าม ใครสามารถเป่าประกบได้ก่อนจะเป็นผู้ชนะและได้หนังยางนั้นไป การละเล่นนี้เป็นการฝึกความสามารถทางด้านร่างกาย ทำให้ปอดขยายและปอดแข็งแรง รู้จักการวางแผนเอาชนะคนอื่น
8.การละเล่นกระโดดบนกองฟาง
ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว หลังจากการนวดข้าวของชาวนา จะมีกองฟางขนาดโต กองฟางจะกลายเป็นที่สำหรับการเล่นกระโดดกองฟางสำหรับเด็กๆ เพราะกองฟางจะนุ่มและสามารถรองรับน้ำหนักตัวได้ เหมือนกับลูกฟูกที่อยู่ในยิม กติกาการเล่นจะเป็นการกระโดดต่อสู้กัน, การแข่งขันการกระโดดสูง หรือการกระโดดไกล โดยส่วนใหญ่เด็กผู้หญิงจะเล่นการสร้างบ้าน เจาะกองฟางให้เป็นโพรงแล้วเข้าไปอยู่ข้างใน การเล่นแบบนี้เด็กอาจจะได้รับบาดเจ็บจากฟางบาด แต่กิจกรรมนี้จะช่วยให้เด็กมีร่างกายแข็งแรง สร้างความยืดหย่นให้กับส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทำให้ร่างกายแข็งแรง
9.การเล่นกระโดดน้ำในคลอง
การกระโดดน้ำในคลองถือว่า เป็นการฝึกทักษะการว่ายน้ำและการเอาตัวรอดจากการจมน้ำ แต่ช่วงแรกๆ ต้องมีผู้ใหญ่คอยดูแล จนกว่าเด็กจะว่ายน้ำเป็น การกระโดดน้ำจะทำให้เด็กมีร่างกายแข็งแรงและทุกๆสัดส่วนของร่างกายจะมีความสมดุลมากขึ้น การละเล่นแบบนี้จะไม่มีกติกาตายตัว เด็กๆสามารถจินตนา การใช้ท่าทางในการโดดได้ตามอัธยาศัย กระโดดสูง กระโดดได้ไกลๆ เป็นต้น
10.การละเล่นขาเขย่ง
เป็นการประยุกต์โดยการนำเอาไม้ไผ่มาทำเป็นของเล่น ตัดไม้ไผ่ให้ได้ความสูงมากกว่าคนเล่นประมาณ1เมตร หลังจากนั้นทำการเจาะแท่นยืน แล้วใช้ไม้ลำอื่นมาประกบเป็นที่ยืน โดยมีความสูงกว่าพื้นประมาณ 25-50 เซนติเมตร การแข่งขัน ให้เด็กขึ้นไปยืนบนแท่นยืนทั้ง 2 ข้าง แล้วก้าวหน้าเดินไปข้างหน้าจนถึงเส้นชัย ใครถึงก่อนคนนั้นเป็นผู้ชนะ การละเล่นนี้เป็นการฝึกให้เด็กรู้จักการประยุกต์ สิ่งของที่หาได้จากธรรมชาติ ประโยชน์จากการละเล่นขาเขย่ง เป็นการฝึกความคิดริเริ่มสรรสรรค์ ฝึกทักษะการทรงตัว
สรุป การละเล่นไทย
การละเล่นไทยพื้นบ้านบางอย่างควรนำมาประยุกต์ใช้เป็นหลักสูตรสำหรับการศึกษาของเด็กไทย เพื่อฝึกทักษะด้านร่างกายและจิตใจให้กับเด็กๆ แล้วยังสามารถสอดแทรกความคิด เพื่อให้เด็กมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ รู้จักการเข้ากับสังคม มีพัฒนาการด้านเชาว์ปัญญา รู้จักแพ้รู้จักชนะ รู้วิธีการเอาตัวรอด รู้จักการประดิษฐ์สิ่งของที่เหลือใช้ ที่หาได้ในท้องถิ่น เป็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมให้อยู่คู่คนไทย ให้ตราบนานเท่านาน
Cr. ขอขอบคุณภาพดีๆจาก Face Book ศูนย์รวมความรู้การเกษตร
วัฒนธรรมพื้นบ้าน https://www.youtube.com/watch?v=Xq_k0nWQPAc&t=3s
บทความน่าสนใจ ของเล่นภูมิปัญญาไทย