อาหารเช้า อาหารชีวิต ภัยร้ายของการไม่รับประทานอาหารมื้อเช้า
อาหารเช้า อาหารชีวิต
อาหารเช้า ภาษาอังกฤษมาจากคำว่า Breakfast หมายความว่า หยุดการอดอาหาร เพราะท้องว่างมานานกว่า 12 ชั่วโมงแล้ว ที่ไม่ได้รับประทานอะไรเลยหลังจาก การรับประทานอาหารมื้อสุดท้ายในเมื่อวาน และเวลาอาหารมื้อเช้า ปกตินั้นต้องรับประทานไม่เกิน 10 นาฬิกา และพลังงานที่ได้รับจากการรับประทานอาหารมื้อเช้า ต้องคิดเป็น 20 ถึง 35% ของพลังงานทั้งหมดที่ร่างกายต้องการทั้งวัน
รู้หรือไม่ว่าคนไทยมากกว่า 50% ไม่รับประทานอาหารเช้า
อาหารเช้าเป็นมื้อที่คนไทยมีการงดมากที่สุดร้อยละ 50.3 รองลงมาคือ อาหารกลางวันร้อยละ 29.6 และมื้อเย็นร้อยละ 17.4 นี่เป็นผลสำรวจสุขภาพประชากรไทยครั้งที่ 5 พ.ศ 2557 โดยสำรวจจากประชากรไทยที่มีอายุ 15 ถึง 59 ปี สรุปได้ว่า คนไทยงดอาหารมื้อเช้าก่อนมื้ออื่น จากการดำเนินการโดยแผนงานสำรวจสุขภาพประชากรไทย สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส) ซึ่งได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายของคณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยในภูมิภาคต่างๆ
ผลจากการสำรวจยังพบว่า สาเหตุที่คนไทยไม่รับประทานอาหารเช้านั้นมีดังต่อไปนี้
1 ) รีบเร่งไม่มีเวลาเพียงพอในตอนเช้า
2 ) การเตรียมอาหารเช้ายุ่งยากขาดการวางแผนในการรับประทานอาหารเช้าที่ดี
3 ) ไม่รู้สึกหิวในตอนเช้า เพราะมื้อดึกรับประทานอาหารมากไป
4 ) นอนตื่นสาย
แล้วอาหารเช้าดีอย่างไรทำไมถึงต้องรับประทาน
1 ) อาหารมื้อเช้า จัดเป็นมื้อสำคัญที่สุด เพราะร่างกายต้องการสารอาหารในช่วงเช้ามากกว่าช่วงเวลาอื่นๆ อันได้แก่สารอาหารที่มี โปรตีน วิตามินและเกลือแร่
2 ) การรับประทานอาหารมื้อเช้าในวัยทำงาน จะทำให้ร่างกายแข็งแรงและกระฉับกระเฉงในการทำงานมากขึ้นสำหรับในวัยเรียนจะทำให้มีสมาธิในการเรียนและมีภูมิคุ้มกันที่ดี
3 ) การไม่รับประทานอาหารเช้าหรือรับประทานอาหารเบาๆแค่ขนมปังหรือกาแฟจะทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่น้อยกว่าที่ควรซึ่งในระยะสั้นอาจจะไม่รู้สึกว่ามีผลกระทบต่อร่างกายแต่ในระยะยาวจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวมอย่างแน่นอน
ภัยร้ายของการไม่รับประทาน อาหารเช้า มีดังนี้
1 เป็นโรคอ้วน อาหารเช้าเป็นอาหารมื้อแรกหลัง จากที่ร่างกายผ่านการอดอาหารมานานเกือบ 12 ชั่วโมง ทำให้ระดับฮอร์โมนแห่งความหิวและระดับฮอร์โมนอินซูลินต่ำ และกลายเป็นสาเหตุทำให้น้ำหนักเกินและโรคอ้วนตามมาอย่างไม่รู้ตัว หากเรายิ่งไม่รับประทานอาหารเช้าเข้าไปอีก จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลง จนไปเพิ่มแนวโน้มการรับประทานอาหารที่มีพลังงานสูงและไขมันสูงในมื้อเที่ยงมากเกินไป
2 โรคเบาหวานการไม่รับประทานอาหารมื้อเช้า จะส่งผลให้ความไวของอินซูลินลดลง ทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินตามมาและเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน ซึ่งการรับประทานอาหารเช้าจะช่วยให้ความไวของอินซูลินสูงขึ้น ส่งผลให้การตอบสนองของน้ำตาลในเลือด หลังรับประทานอาหารดีขึ้น โดยพบว่าผู้ที่ไม่รับประทานอาหารมื้อเช้านั้นมีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เพิ่มขึ้นถึง 15 ถึง 21 เปอร์เซ็นต์
3 โรคหัวใจและหลอดเลือด เมื่อไม่ได้รับประทานอาหารเช้าจนติดเป็นนิสัย จะทำให้เป็นโรคอ้วนโรคเบาหวานและอีกหลายโรค ซึ่งเมื่อเจ้าโรคอ้วนและโรคเบาหวานมาเยือน ปริมาณคอเลสเตอรอลในร่างกายจะสูงขึ้นทำให้มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดตามมา จากงานวิจัยขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นพบว่าคนที่ไม่รับประทานอาหารมื้อเช้าเพิ่มอัตราเสี่ยงโรคหลอดเลือดสูงถึง 42 เปอร์เซ็นต์
4 โรคกรดไหลย้อน จากการศึกษาวิจัยของภาควิชาทางเดินอาหารคณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยโตเกียวประเทศญี่ปุ่นพบว่า โรคกรดไหลย้อนมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม 4 อย่าง
1) รับประทานอาหาร 2-3 ชั่วโมงก่อนเข้านอน
2) รับประทานอาหารของว่างช่วงค่ำ
3) รับประทานอาหารเร็ว
4) ไม่รับประทานอะไรเลย
นอกจากนั้นยังพบว่าบางคนที่ไม่รับประทานอาหารเช้า แต่หันไปพึ่งพาเครื่องดื่มคาเฟอีนอย่างกาแฟชาหรือเครื่องดื่มชูกำลังยิ่งเป็นตัวกระตุ้น ซึ่งจะทำให้น้ำย่อยหลั่งออกมามากขึ้น ทำให้อาการกรดไหลย้อนเป็นมากขึ้น
5 โรคหลอดเลือดสมอง งานวิจัยขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นศึกษาความสัมพันธ์ของการรับประทานอาหารเช้ากับโรคหลอดเลือดสมองในคนที่สุขภาพร่างกายแข็งแรงพบว่า การรับประทานอาหารเช้าทุกวัน ช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดสมองแตก กลไกที่อธิบายคือการไม่รับประทานอาหารเช้า ส่งผลให้แกนทำงาน ไฮโปทาลามัส ต่อมใต้สมองและต่อมหมวกไตทำงานมากเกินไป ของสมองส่วน Over activity in hypothalamic Pituitary Adrenal axis ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงช่วงเช้าซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยง สำคัญของโรคหลอดเลือดสมองแตก
6 โรคนิ่วในถุงน้ำดี คลอเรสเตอรอลเป็นสารที่สร้างมาจากเซลล์ตับแล้วปล่อยลงไปกับน้ำดี ซึ่งเป็นทางหนึ่งที่ตับจะขับคอเลสเตอรอลส่วนเกินออกจากร่างกายไปทางน้ำดี แต่การไม่รับประทานอาหารเช้าจะทำให้คอเลสเตอรอลในน้ำดีอิ่มตัวและจับตัวกันในถุงน้ำดี แล้วหากไม่รับประทานอาหารมื้อเช้าติดต่อกันเป็นประจำ จะส่งผลให้น้ำดีไหลเวียนออกจากตับไม่ดี ถุงน้ำดีขุ่นและในที่สุดจะทำให้เกิดก้อนนิ่วชนิดคลอเรสเตอรอลในถุงน้ำดีนั่นเอง
7 ประสิทธิภาพการเรียนรู้และความจำลดลง การรับประทานอาหารเช้าเป็นกิจวัตรทุกวันจะช่วยให้เกิดประสิทธิภาพในการเรียนรู้และช่วยเพิ่มพลังความจำกับสมองทำให้มีความจำที่ดี นอกจากนี้การเสริมน้ำมันปลาที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 ช่วยชะลอความเสื่อมของสมองได้ โดย EPA ที่พบในน้ำมันปลา จะช่วยต้านการอักเสบ จึงเป็นทางเลือกที่เหมาะกับคนที่รับประทานอาหารไขมันอิ่มตัวมาก
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจากนิตยสารแอคชีฟ Thailand ฉบับ April 2018
บทความที่น่าสนใจ ข้าวหลาม ประเพณีพื้นบ้าน เพิ่มไขมันดีให้กับร่างกาย สร้างความสามัคคี