รถยนต์ไฟฟ้า Electrical vehicle : EV ในอนาคตของประเทศไทย

การคมนาคมนับได้ว่าเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญ สำหรับการขนถ่ายสินค้า การท่องเที่ยว การเดินทาง โดยการขนส่งทางบกนั้นนับได้ว่า มีการใช้พลังงานในปริมาณมาก นอกจากนี้ก็ยังปล่อยไอเสีย ซึ่งมีผลกระทบอย่างกว้างขวางทั้งในแง่สิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรม จากฝุ่นละอองและควันพิษต่างๆ แล้วยังมีผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายของมนุษย์  โดยเฉพาะรถยนต์นับได้ว่าเป็น ตัวการหลักในการปล่อยไอเสียทำให้อากาศเสีย
นอกจากนี้การใช้พลังงานน้ำมันที่สะกัดจากฟอสซิล ที่พวกเรารู้กันดีว่าในอนาคตจะต้องหมดไป หรือแม้แต่กระบวนการกลั่นก็ยังปลดปล่อยมลภาวะ จึงกลายเป็นที่มาของการวิจัยและพัฒนาพลังงานสะอาด ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจอย่างแพร่หลาย ซึ่งไทยเองก็ได้ให้ความสนใจกับการนำ รถยนต์ไฟฟ้า มาปรับใช้    

รถยนต์ไฟฟ้า หรือ Electrical vehicle : EV เป็นยานพาหนะที่ใช้ไฟฟ้าเป็นแหล่งพลังงานแทนน้ำมันหรือเชื้อเพลิงอื่นๆ โดยพลังไฟฟ้าจากชุดแบตเตอรี่ไปจ่ายให้กับมอเตอร์ไฟฟ้า แปลงพลังงานไฟฟ้าให้เป็นพลังงานกล  เพื่อการขับเคลื่อนล้อ  ซึ่งในต่างประเทศและมีการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจัง  โดยจะเห็นได้จากค่ายรถยนต์ชั้นนำทั่วโลก ต่างหันมาให้ความสำคัญ 

อาทิเช่นบริษัทนิสสันมอเตอร์จำกัด ได้เปิดตัวรถ Nissan leaf รถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่มาพร้อมกับนวัตกรรม และวิวัฒนาการของเทคโนโลยีของการขับขี่อัตโนมัติ ซึ่งสามารถขับเคลื่อนได้ไกลถึง 400 กิโลเมตร  ในขณะที่ค่าย BMW ได้ประกาศว่า  รถยนต์ทุกรูปแบบในเครือของบริษัท จะจำหน่ายเป็นรถ EV ภายใน ค.ศ. 2025   รวมถึงมินิที่เตรียมเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นผลิตจริง ในปี ค.ศ.2019 เป็นต้น

สำหรับประเทศไทยเอง ทางสถาบันปฏิรูปแห่งชาติ (สปสช.) ได้มีการจัดทำข้อเสนอโครงการปฏิรูปเรื่องการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าแห่งประเทศไทยขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับแผนอนุรักษ์พลังงาน พ. ศ. 2558-2579 (Energy Efficiency Plan)  แผน EEP: 2015 ที่มีเป้าหมายจะลดความเข้มการใช้พลังงานในปี 2579 เมื่อเทียบกับปี 2553 ลงร้อยละ 30  

ดังนั้นสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานกระทรวงพลังงาน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายดำเนินการในส่วนนี้  จึงจัดทำแผนขับเคลื่อนภารกิจพลังงานและได้ตั้งเป้าหมายในการส่งเสริม เพื่อให้เกิดการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในปี 2579 รวมทั้งสิ้น 1.2 ล้านคัน  โดยมีแผนดำเนินการแบ่งออกเป็น 4 ระยะดังนี้

ระยะที่ 1 ระหว่างปี 2559 ถึง 2560 เป็นขั้นตอนของการเตรียมความพร้อมด้านกฎหมายของการอนุญาตและการสนับสนุนงานวิจัยเรื่องแบตเตอรี่  โดยเน้นนำร่องกลุ่มรถโดยสารสาธารณะจำนวน 200 คัน เฉพาะจุดเช่นรถรับส่งพนักงานของบริษัทปตท. จำกัด (มหาชน)  รถรับส่งสุวรรณภูมิ-พัทยา  รวมถึงการเตรียมความพร้อมด้านสถานี Charging Station เป็นต้น

ระยะที่ 2 ปี 2560 ถึง 2563 มุ่งเน้นการดำเนินงานเชิงวิจัยอย่างเข้มข้นอย่างต่อเนื่อง  ทั้งเรื่องสมรรถนะแบตเตอรี่ มอเตอร์ไฟฟ้า  รวมทั้งเพิ่มจำนวนรถและจุด Charger Station ให้เพียงพอ

ระยะที่ 3 ปี 2564 ถึง 2578 เป็นช่วงขยายผลการศึกษาให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้

ระยะที่ 4 ปี 2579 เป็นต้นไป คาดหวังว่า รถยนต์ไฟฟ้า จะเข้ามาแทนที่รถน้ำมันได้อย่างเต็มที่

ปัจจุบันองค์ความรู้ของกลุ่ม ปตท.และผลิตรถยนต์โดยสารสาธาณะพลังงานไฟฟ้าขึ้นในไทย  3 คัน ประกอบด้วย รถโดยสารทั่วไป 2 คัน และรถที่มีการติดตั้งอุปกรณ์พิเศษรองรับผู้พิการ 1 คัน แต่ละคัน สามารถรองรับผู้โดยสารนั่งได้จำนวน 20 คน ผู้โดยสารยืนจำนวน 20 คน รวม 40 คน ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า 100% พร้อมระบบปรับอากาศภายในตัวรถ  และมีการติดตั้งชุดชาร์จ ณ. อาคารเอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการรับส่งพนักงานในกลุ่ม ปตท. ข้าราชการกระทรวงพลังงานและประชาชนที่มีการติดต่อกับราชการ

รวมทั้งการเปิดตัวสถานีบริการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า PTT EV Station ทั้งสิ้น 6 แห่ง ได้แก่

1)จุดชาร์จ ธนาคาร ปตท.สำนักงานใหญ่

2)สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

3)สถานีบริการน้ำมัน ปตท. สาขาแหลมฉบังขาออก จังหวัดชลบุรี 

4)สถานีน้ำมัน ปตท. สาขา The Crystal PTT ถนนไชยฤกษ์ 

5)สถานีน้ำมัน ปตท. สาขาสวัสดิการสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม บางนาขาเข้า

6)สถานีบริการน้ำมัน ปตท. สาขาสวัสดิการสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม บางนาขาออกนอก   เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ควบคู่ไปกับการศึกษาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า

จากนี้กระทรวงพลังงานได้ดำเนินโครงการ  สนับสนุนการเปลี่ยนรถตุ๊กตุ๊กเป็นรถตุ๊กๆไฟฟ้า E tuktuk โดยมีเป้าหมายในการเปลี่ยนรถตุ๊กตุ๊กเก่า ที่ใช้น้ำมันและก๊าซ LPG เป็นรถตุ๊กๆไฟฟ้าภายใน 5 ปี  เพื่อลดการใช้น้ำมันและก๊าซ และลดการปล่อยควันพิษ  โดยจะนำร่อง 100 คันแรกภายในปี 2561   แล้วจะทยอยทำให้ครบ 22000 คันทั่วประเทศ ซึ่งเน้นการนำร่องการใช้ในกลุ่มรถโดยสารสาธารณะ  และจะขยายผลไปสู่ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน  สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าควบคู่ไปกับการศึกษาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้ารวมถึงระบบการจัดการต่างๆ  เพื่อให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคลต่อไป

อย่างไรก็ตามภาครัฐจำเป็นต้องคำนึงถึงเสถียรภาพและความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ  ซึ่งปัจจุบันมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติและซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้นจึงควรหาแหล่งพลังงานให้เพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการคำนึงถึงราคาที่มีความเหมาะสมกับผู้บริโภค  ซึ่งจะทำให้เกิดการร่วมมือในการใช้รถไฟฟ้าในประเทศไทย ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และส่งผลต่อการคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยในอนาคตดีขึ้นอย่างเป็นรูปประธรรมอีกด้วย

บทความที่น่าสนใจ เชื้อเพลิงรถยนต์ ก้าวสู่ยุคพลังงานไร้ขีดจำกัดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ขอขอบคุณที่มาจาก www. enconfund.go.th,

http:// app.energy.go.th/pages/news_detail.php? id=124

https:// thaipublica.org/2017/06/ptt-ev-bus-31-5-2560/

You may also like...

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *